คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 5
เรียบเรียงโดย โปรสบง ปานดอกไม้
02 Nov 2016
- Shares:
SWING TEMPO IS
THE MOST IMPORTANT KEY
TO ADD MORE
DISTANCE & ACCURACY
นักกอล์ฟเคยถ่ายวงสวิงตัวเองดูหรือไม่ เคยถ่ายวงสวิงของตัวเองแล้วลองนําไปฉายบนจอทีวี ที่เราใช้สําหรับดูถ่ายทอดสดการแข่งขันกอล์ฟจากต่างประเทศ
ถ้าคุณเคยทําอย่างนั้นแล้ว คุณจะมองเห็นตัวเองว่า วงสวิงของตัวเองนั้นมีอะไรที่เหมือนหรือแตกต่างจากโปรกอล์ฟ ประโยชน์ของการถ่ายวงสวิงตัวเองไว้ดู ก็เพื่อดูว่าเรามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นในวงสวิง
การใช้กล้องถ่ายวิดีโอวงสวิง จะช่วยให้นักกอล์ฟสามารถแก้ไขการสวิงที่ผิดพลาด และช่วยพัฒนาวงสวิงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว สมัยนี้กล้องวิดีโอที่มีคุณภาพสูง มีราคาถูกลงกว่าในอดีตมาก และกล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอลหลายรุ่นก็มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะใช้ถ่ายภาพวิดีโอ หรือแม้กระทั่งสมาร์ทโฟนต่างๆ ก็มีหมวดถ่ายวีดิโดแบบสโลโมชั่น เพื่อตรวจสอบวงสวิงของเรา
มีนักกอล์ฟหลายๆ คน มักเข้าใจว่าตัวเองมีลักษณะการสวิงที่เร็วเกินไป อันเป็นสาเหตุทําให้ตีกอล์ฟไม่ดี ไม่แม่นยํา ถ้าคุณเคยถ่ายภาพวงสวิงของตัวเอง แล้วนําไปเปรียบเทียบกับวงสวิงของโปรกอล์ฟ คุณจะพบว่าจริงๆ แล้ว วงสวิงของคุณอาจจะไม่ได้เร็วเกินไปอย่างที่คุณคิด แต่มันอาจจะช้าไปด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับโปรกอล์ฟ
ในงานวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการ Biomechanics ที่เราเคยนําเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว มีตัวเลขอันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ตอนปะทะลูกกอล์ฟช้า มักจะใช้เวลาในการขึ้นแบ็คสวิงที่ช้าเกินไป จอห์น โนโวเซลเคยศึกษาและทําข้อมูลเอาไว้ว่าโปรกอล์ฟในพีจีเอทัวร์ จะใช้เวลาเฉลี่ย 1.2 วินาที ในการเริ่มต้นแบ็คสวิงจนกระทั่งหน้าไม้กระทบลูกกอล์ฟ และมีสัดส่วนเวลาในการแบ็คสวิงเมื่อเทียบกับการดาวน์สวิงเป็นสัดส่วน 3:1
ในขณะที่ข้อมูลการทําวิจัยจากตอนที่แล้ว ในห้องปฏิบัติการ Biomechanics พบว่านักอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ต่ำล้วนใช้เวลาในการแบ็คสวิงเกิน 1.2 วินาที
ถามว่าทําไมเราต้องแบ็คสวิงให้เร็วขึ้น เพื่อให้ความเร็วตอนดาวน์สวิงเพิ่มขึ้นด้วย ?
คําตอบของเรื่องนี้ได้รับการศึกษาโดยจอห์น โนโวเซล ซึ่งเขาค้นพบข้อมูลโปรกอล์ฟในพีจีเออย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะสวิงด้วยความเร็วหัวไม้เท่าไหร่ก็ตาม จะสวิงช้า หรือสวิงเร็วก็ตาม สัดส่วนเวลาที่ใช้ในการแบ็คสวิงจนถึงดาวน์สวิงจะมีค่าใกล้เคียงกันคือ 3:1 (ตัวเลขนี้เป็นค่าที่ปัดขึ้นและลงตามหลักคณิตศาสตร์ให้เป็นจํานวนเต็ม จริงๆ แล้วค่านี้อาจจะมากจาก 2 จุดปลายๆ เช่น 2.9 หรือ 3 จุดต้นๆ เช่น 3.1 )
ซึ่งเทมโป้การสวิงดังกล่าวนั้น จะเป็นค่าตัวเลข ที่ทําให้การสวิงดูแล้วไหลลื่นไม่กระชากกระชั้น หรือชักกระตุก ซึ่งเป็นสาเหตุทําให้ตีไม่ตรง
เพราะฉะนั้นนักกอล์ฟที่ต้องการตีไกลและตรง ก็ควรที่จะพัฒนาเทมโป้การแบ็คสวิงให้เร็วและกระชับ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การดาวน์สวิงที่ได้ความเร็ว และได้สัดส่วนที่สัมพันธ์กันระหว่างแบ็คสวิงกับดาวน์สวิง
โปรสบง ปานดอกไม้ เล่าให้เราฟังหลังจากที่มีโอกาสได้วิเคราะห์วงสวิงในห้องปฏิบัติการ Biomechanics ว่า ครั้งหนึ่งเคยแบ็คสวิงในลักษณะประคับประคองสวิงเกินไป ทําให้เวลาที่ใช้ในการแบ็คสวิงกินเวลานานเกินไป สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อต้องการดาวน์สวิงให้ได้ความเร็วหัวไม้สูงๆ ก็จะทําได้ไม่ไหลลื่นนัก การควบคุมทิศทางก็ลําบาก และต่อไปนี้โปรสบงจะมาอธิบายว่าโปรมีวิธีการแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
เรื่องการแบ็คสวิงนั้น ผมขอให้ใช้คําว่าแบ็คสวิงให้กระชับมากกว่าแบ็คสวิงให้เร็ว เพราะคําว่าเร็วอาจทําให้นักกอล์ฟแบ็คสวิงด้วยความที่เร่งรีบเกินไป จนทําให้เกิดผลเสียอย่างอื่นตามมา โดยทั่วไปนักกอล์ฟที่ผมเห็นว่าแบ็คสวิงช้าเกินไปนั้น เกิดขึ้นจากการแบ็คสวิงที่ไม่กระชับ ซึ่งที่เห็นบ่อยๆ เกิดขึ้นได้ 3 กรณีต่อไปนี้
ปัญหาการแบ็คสวิงแบบแยกส่วน
เกิดขึ้นจากการที่นักกอล์ฟใช้แขนมากเกินไป แขนเริ่มเคลื่อนที่แยกออกจากลําตัว ไม่ได้เคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กับการหมุนของไหล่ ซึ่งจะทําให้เราต้องออกแรงมากขึ้นในการแบ็คสวิง ทําให้สูญเสียความเร็วในการแบ็คสวิง หรือถ้าจะแบ็คสวิงให้เร็ว ก็จะเป็นลักษณะการสวิงที่กระชากกระชั้น
จังหวะแบ็คสวิงสูงสุดใส่เกลียวมากเกินไปจนล้น เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะบิดลําตัวช่วงบนมากเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ นอกจากทําให้เวลาที่ใช้ในการแบ็คสวิงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทําให้เกลียวที่ถูกสร้างขึ้นมาลดประสิทธิภาพลง เนื่องจากสะโพกขวาเปิดมากขึ้น เมื่อเราใส่เกลียวเพิ่มขึ้น หรือแกนสันหลังเราเอียงกลับด้าน (Reverse Pivot) ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะทําให้เราแบ็คสวิงไม่กระชับแล้ว ยังสูญเสียพลังในวงสวิงไปมาก
จังหวะแบ็คสวิงมีการสวิงแขนเพิ่มเติมและหักข้อมือ แถมในช่วงที่แบ็คสวิงสูงสุดแล้ว จังหวะนี้นอกจากจะไปเพิ่มเวลาในการแบ็คสวิงแล้ว ยังทําให้หัวไม้เดินทางเพิ่มมากขึ้น ความแม่นยําในการนําหัวไม้กลับเข้ามาปะทะลูกกอล์ฟก็น้อยลงด้วย
วิธีการซ้อม
1.ซ้อมการเริ่มต้นแบ็คสวิงให้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนทํางานสัมพันธ์กัน
ให้เอากริปของไม้กอล์ฟมาจิ้มที่พุงไว้ เริ่มต้นแบ็คสวิงโดยให้กริพจิ้มอยู่ที่พุงจนถึงกระทั่งแขนเดินทางถึงตําแหน่งแปดนาฬิกา เพื่อหาความรู้สึกในการสวิงที่กล้ามเนื้อแต่ละส่วนทํางานสัมพันธ์กัน หรือนักกอล์ฟอาจจะหาผ้ายืดรัดที่ต้นแขนเอาไว้ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนทํางานเป็นชิ้นเดียวกันในการสวิง
2.ใช้กล้องวิดีโอถ่ายภาพวงสวิงตัวเองว่ามีลักษณะโอเวอร์สวิงหรือเปล่า แล้วก็ปรับการแบ็คสวิงให้น้อยลง แล้วลองถ่ายใหม่จนกระทั่งได้ภาพการแบ็คสวิงที่พอดี หลังจากนั้นให้นักกอล์ฟจําความรู้สึกนั้นไว้ เพราะบางครั้งที่เราโอเวอร์สวิง อาจจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
การใช้ดนตรีสร้างจังหวะในการสวิง
การฝึกจังหวะที่ง่ายที่สุด นักกอล์ฟอาจใช้เสียงดนตรีช่วยในการฝึก โดยการฟังเสียงดนตรีจากหูฟัง ซึ่งปัจจุบันมือถือรุ่นใหม่ๆ สามารถบันทึกไฟล์เพลงลงไปได้ นักกอล์ฟก็เพียงแต่โหลดเสียงเพลงที่ใช้ช่วยฝึกจังหวะสวิงลงไปในมือถือ แล้วก็สวิงไปตามจังหวะนั้นๆ มีการทดลองนักกอล์ฟสมัครเล่นคนหนึ่งในอเมริกาชื่อบรูซ โปรโว ตอนแรกที่ถ่ายวีดีโอเขามีสัดส่วนการแบ็คสวิงต่อการดาวน์สวิงเป็น 44 เฟรม ต่อ 11 เฟรม หลังจากที่เขาซ้อมโดยการสวิงตามเสียงดนตรี และได้รับคําแนะนําเพิ่มเติมจากโปรเล็กน้อย เขาสามารถปรับจังหวะสวิงให้เร็วขึ้นเป็น 32 เฟรมต่อ 9 เฟรม ด้วยจังหวะที่เปลี่ยนไป เขาสามารถเพิ่มความเร็วของเหล็ก 5 ได้ 20 MPH และทําให้ระยะเพิ่มขึ้น 35 ถึง 40 หลา
อ่านคัมภีร์ไดรฟไกลตอนก่อนหน้านั้น คลิ๊ก
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 1
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/1
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/2
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/3
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/4
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/5
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/6
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 3
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 4/1
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 4/2
Tags : ตีไกล , ไดรฟ 300 หลา , เทคนิคตีไกล , ไดรเวอร์ , Driver , Drivers , Wood , Woods , หัวไม้ , หัวไม้ 1 , FlightScope , LongestDrive , Longest Drive , Long Drive , LongDrive Power PowerTips Power Tips PowerTip PowerTip