พระบรมรูปทรงงาน
เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
01 Nov 2016
- Shares:
พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ประทับยืนขณะทรงงาน เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดสร้าง พระบรมรูปของพระองค์ขณะทรงงาน ทรงมีพระราชประสงค์จะจัดหาช่างปั้น และหล่อเป็นการส่วนพระองค์ และจักสร้างโดยมีพระราชประสงค์แรกที่จะใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมอบหมายให้ กรมทางหลวงชนบทจัดสร้างแท่นที่ประดิษฐาน บริเวณสวนสุขภาพลัดโพธิ์ เพื่อที่ในภายภาคหน้า ประชาชนจะได้มากราบสักการะ ทรงมีพระบรมวินิจฉัยต้นแบบดินเหนียวด้วยพระองค์เอง ทรงมอบพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงงานเป็นต้นแบบ และทรงตรวจสอบทุกรายละเอียดแม้แต่ ฉลองพระองค์ที่ใส่ ฉลองพระบาท กล้องถ่ายภาพ วิทยุสื่อสารที่ใช้ในขณะนั้น อีกทั้งยังทรงมอบเข็มกลัดที่อยู่บนฉลองพระองค์ในพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อให้ช่างปั้นพระบรมรูปทรงงานให้สมจริงมากที่สุด พระบรมรูปทรงงานที่ประดิษฐานที่แห่งนี้ จึงจัดได้ว่ามีความสมบูรณ์มากที่สุด
บทความเรื่องนี้ ผมตั้งใจเขียนขึ้นมาหลังจากที่ได้อ่านบทความที่ซาบซึ้งใจเกี่ยวกับสะพานภูมิพลที่แชร์กันมากมายบนโลกอินเตอร์เนท รวมถึงลงเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศ ด้วยความที่ตัวเองเคยทำงานที่เกี่ยวกับการออกแบบสะพาน จึงพอมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสะพานอยู่บ้าง ทำให้พอทราบว่า งบประมาณการก่อสร้างสะพานภูมิพลนั้น เป็นจำนวนเงินหลักหลายพันล้านบาท ฉะนั้นงบประมาณ ที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนของสะพานนั้นจึงน่าจะอยู่ที่งบประมาณของแผ่นดินเป็นหลัก แต่ด้วยความที่ผมคิดว่าเนื้อหาที่มีการแชร์กันนั้น น่าจะมีเค้าโครงเรื่องจริงอยู่อย่างแน่นอน ผมจึงสนใจและอยากทราบเรื่องราวที่ซาบซึ้งใจที่อยู่ภายในบริเวณสะพานภูมิพล
ผมเริ่มต้นจากหาข้อมูล จากต้นทางของโครงการนี้ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ลดการเบี่ยงเบนสะสมของข้อมูล ผมโทรหาพี่ปฐม ปัจจุบันดำรงค์ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท นักกอล์ฟฝีมือดีที่เคยเป็นพี่เลี้ยงสั่งสอนผมด้านงานสะพาน และเป็นหนึ่งในข้าราชการที่มีโอกาสถวายงานในหลวงผ่านรองราชเลขา
พี่ปฐมเล่าให้ผมฟังว่า ทั้งสะพานพระราม 8 และ วงแหวนอุตสาหกรรม (สะพานภูมิพล ส่วนหนึ่งของโครงการนี้) เกิดขึ้นจากพระราชดำริของในหลวง ตั้งแต่ปี 2538 และมิใช่แค่ 2 โครงการนี้เท่านั้น ยังมีอีกหลายๆ โครงการที่ตั้งต้นขึ้นมาจากพระราชดำริของในหลวง ตั้งแต่ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก ถนนบรมราชชนนี วงแหวนกาญจนาภิเษก และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ล้วนตั้งต้นมาจาก พระราชดำริของในหลวงทั้งนั้น
พี่ปฐมขยายความว่า โครงการใหญ่ๆ เหล่านี้ หากมิได้เป็นพระราชดำริของพระองค์ยากที่จะสำเร็จลุล่วงได้ เพราะหลายๆ โครงการที่เกิดจากพระราชดำริ ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจของประชาชน รวมถึงความเสียสละของประชาชน เพราะหลายๆ ครั้ง โครงการใหญ่ๆ ต่าง มักจะมีผลกระทบเรื่องที่ดินกับประชาชนรอบๆ โครงการในช่วงแรกๆ
ซึ่งโครงการของพระองค์ อาจมีผลกระทบในช่วงแรกๆ แต่หลังจากที่โครงการก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ประชาชนส่วนรวม จะได้ประโยชน์จากโครงการพระราชดำริของพระองค์ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนใหญ่ๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่พระองค์ทรงงานหนักๆ ล้วนสร้างประโยชน์และสามารถแก้ปัญหาทางธรรมชาติให้กับประชาชนรอบๆ จนถึงประชาชนทั้งประเทศ
พี่ปฐม ถามผมด้วยความสนิทสนมมาประโยคหนึ่งว่า "ลองคิดดูสิ พระองค์ทรงจบการศึกษาด้านไหนมา แต่ทำไมพระองค์จึงทรงรู้เรื่องต่างๆ ทางวิศวกรรมได้เป็นอย่างดี ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน เสียอีก เพราะอะไร"
ผมคิดอยู่สักครู่ จากภาพที่อยู่ในหัวผม ซึ่งเคยเห็นพระองค์พระราชดำเนินไปตามแหล่งทุรกันดารต่างๆ ภาพพระองค์กับ กล้องถ่ายภาพ วิทยุสื่อสาร กับแผนที่ 1 : 50,000 ซึ่งพระองค์มักพกติดตัวไปทุกๆ ที่ จนเป็นภาพที่ชินตา
ผมนึกและตอบกลับไปว่า เพราะความตั้งใจจริงของพระองค์ ความใส่ใจในงานที่พระองค์ทำ จึงทำให้พระองค์ทรงเป็น Expert ในทุกๆ สิ่งที่พระองค์ทรงทำ
พี่ปฐมบอกผมว่า นั่นแหละคือคำตอบ พระองค์ทรงใส่ใจรายละเอียดในงานต่างๆ ที่พระองค์ทรงงาน จนรอบรู้เรื่องต่างๆ ที่พระองค์สนใจและทำงานหนักจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะงานวิศวกรรมต่างๆ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนของพระองค์
อ่านเรื่องราวพระองค์ในการทรงงาน และเรื่องแผนที่ของ "ในหลวง " น่าสนใจมาก ที่นี่
http://www.posttoday.com/social/royal/460472
พี่ปฐมเล่าให้ฟังว่า โครงการวงแหวนอุตสาหกรรม ก็เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ให้จัดทำโครงการนี้ เพื่อเป็นการระบายการจราจร และลดปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะวิ่งเข้ากรุงเทพ ระหว่างท่าเรือคลองเตย และ ถนนพระราม 2 ซึ่งถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณนั้นๆ และยังทำให้โครงข่ายวงแหวนรอบนอก เชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้
ในส่วนของช่วงสะพานภูมิพล 1 และ สะพานภูมิพล 2 ซึ่งในระหว่างการออกแบบ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการวงแหวนอุตสาหกรรม ก่อนที่พระองค์จะพระราชทานชื่อให้ในภายหลัง พระองค์ทรงขีดเส้นทางให้ว่า สะพานควรจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงช่วงไหน พร้อมกับ แนะนำว่า ให้สร้างสวนสาธารณะใต้สะพานให้ประชาชนใช้สอย ตั้งแต่ครั้งแรกที่พระองค์มีพระราชดำริให้สร้างสะพานบริเวณนั้น
พี่ปฐมเล่าต่อให้ฟังว่า โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ซึ่งอยู่ใต้สะพานภูมิพลนั้น มิใช่เป็นพระราชดำริตั้งแต่ในครั้งแรก แต่เกิดขึ้นจากการที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ไปบริเวณนั้นหลายครั้ง แล้วเห็นถึงปัญหาของประชาชนในบริเวณนั้น ซึ่งมักเดือดร้อนจากน้ำท่วมอยู่เป็นประจำทุกๆ ปี
จึงมีพระราชดำริในเวลาต่อมา ให้ทำการพัฒนาคลองลัดโพธิ์จากที่เป็นคลองที่เสื่อมโทรม ตื้นเขิน เต็มไปด้วยหญ้ารกล้าง ให้เป็นคลองที่สามารถใช้เป็นช่องทางระบายน้ำระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งมาขดกันเป็นรูปกระเพาะหมูในบริเวณนี้ พร้อมทั้งให้จัดสร้างประตูระบายน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในบริเวณนี้ด้วย
หลังจากที่โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์สร้างเสร็จสมบูรณ์ ประชาชนโดยรอบคลองลัดโพธิ์ก็ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมอีกเลย และรวมถึงประชาชนย่านพระประแดงด้วย ฟังคลิปนี้จากประชานย่านคลองลัดโพธิ์กันเองครับ
เมื่อปี 24 พฤศจิกายน 2553 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักกรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร หรือที่ประชาชนชาวไทยเรียกติดปากว่า " ในหลวง " เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยทรงเรือพระที่นั่งที่กองทัพเรือถวาย จากท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราชไปยังคลองลัดโพธิ์ เพื่อทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และ เสด็จทอดพระเนตรโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม
หากจำกันได้ ณ วันนั้น 2 ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เต็มไปด้วยประชาชน ผู้จงรักภักดี และรักในหลวงอย่างสุดหัวใจ ต่างจับจองที่นั่ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่เช้า เพื่อเฝ้ารอรับเสด็จในหลวง ตลอง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนต่างเปล่งเสียง "ทรงพระเจริญ" ตลอดทาง จนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บนเรือลำนั้น ต่างตื้นตันระคนขนลุกจากเสียงประชาชนที่ดังกึ่งก้องจากทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
พี่ปฐม ซึ่งอยู่บนเรือลำนั้นด้วย เล่าให้ผมฟังว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จประทับอยู่ภายนอกเรือพระที่นั่ง เนื่องจากทรงเห็นว่ามีประชาชนรอชมพระบารมีอยู่ทั้งวัน ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
พระองค์ทรงประทับอยู่ด้านหน้าเรือ ตากแดด ตากลม เพื่อให้ประชาชน 2 ฝั่งเจ้าพระยา เห็นพระองค์ด้วยความเท่าเทียมกัน ตั้งแต่เริ่มออกจากศิริราชจวบจนกระทั่งพระราชดำเนินกลับ 2 ฝั่งทางยังเต็มไปด้วยประกายแสงเทียนที่สว่างไสวจาก 2 ฝั่งเจ้าพระยา
หลังจากทรงเสด็จกลับมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในหลวง ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างพระบรมรูปของพระองค์ขณะทรงงาน เพื่อนำมาประดิษฐาน ณ บริเวณส่วนสุขภาพลัดโพธิ์ ซึ่งอยู่ใต้สะพานภูมิพล 1 และ สะพานภูมิพล 2 โดยพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ในการจัดสร้าง เพื่อไว้ให้ประชาชนกราบไหว้ในภายภาคหน้า และมีพระราชประสงค์ที่จะใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ในการดำเนินการในครั้งนี้
พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ประทับยืนขณะทรงงาน เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดสร้าง พระบรมรูปของพระองค์ขณะทรงงาน ทรงมีพระราชประสงค์จะจัดหาช่างปั้น และหล่อเป็นการส่วนพระองค์ และจักสร้างโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมอบหมายให้ กรมทางหลวงชนบทจัดสร้างแท่นที่ประดิษฐาน บริเวณสวนสุขภาพลัดโพธิ์ เพื่อที่ในภายภาคหน้า ประชาชนจะได้มากราบสักการะ ทรงมีพระบรมวินิจฉัยต้นแบบดินเหนียวด้วยพระองค์เอง ทรงมอบพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงงานเป็นต้นแบบ และทรงตรวจสอบทุกรายละเอียดแม้แต่ ฉลองพระองค์ที่ใส่ กล้องถ่ายภาพ วิทยุสื่อสารที่ใช้ในขณะนั้น อีกทั้งยังทรงมอบรองพระบาทคู่ที่ใส่ในพระบรมฉายาลักษณ์ ให้ช่างปั้นนำไปใช้เป็นต้นแบบ
มีเรื่องเล่าจากผอ.ปฐม ถึงความมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล และความพิถีพิถันในการทรงงานของในหลวงดังต่อไปนี้
1.ในครั้งแรก กรมทรงหลวงชนบทมีแนวคิดที่จะสร้างพระบรมรูปทรงงานประดิษฐานอยู่ในศาลา
หลังจาก ในหลวง ได้รับแนวความคิด ก็ทรงแนะนำกลับมาว่า พระบรมรูปของพระองค์กำลังทรงงานกลางแจ้ง ก็ควรจะอยู่กลางแจ้ง โดยไม่จำเป็นต้องมีศาลา
2.ในครั้งแรก กรมทางหลวงชนบท มีความประสงค์จะเชิดชูพระเกียรติของท่าน โดยการสร้างพระบรมรูปให้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ โดยการยกระดับพรบรมรูปสูงเสียดฟ้า จนสามารถมองเห็นเด่นชัด ขณะขับรถข้ามสะพานภูมิพล 1 และ 2
หลังจากในหลวง ได้รับแนวคิด ก็ทรงแนะนำกลับมาว่า เกรงว่าประชาชนจะยกมือไหว้ ขณะขับรถ จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้
3.ในขณะที่อยู่ในระหว่างการออกแบบต้นแบบของพระบรมรูปทรงงาน พระองค์ทรงตรวจงานในรายละเอียดด้วยพระองค์เอง ทรงให้มีพระราชประสงค์ต้องการให้ทุกๆ ตำแหน่งของพระบรมรูปทรงงาน สมจริง ตั้งแต่รายละเอียดของกล้องถ่ายรูป รุ่นต้องตรง วิทยุสื่อสารที่พระองค์พกติดตัวตลอดเวลา ระหว่างทรงงาน ฉลองพระบาทของพระองค์ ก็ส่งของจริงให้ช่างปั้น แม้กระทั่งพระพักตร์ของพระองค์ ก็ต้องสมจริง ตรงตามรูปและตรงตามพระชันมพรรษาตามในรูป มีเรื่องเล่าต่อว่า แม้กระทั่ง พระบรมรูปขณะผนวช พระองค์ยังเน้นย้ำว่า ตอนพระองค์ผนวชมีพระชนมพรรษาเพียง 25 เท่านั้น พระบรมรูปทรงผนวชก็ควรจะมีพระพักตร์และท่าทางการนั่งให้สมจริงตามพระชนมพรรษาท่าน ณ ขณะนั้นๆ
ในขั้นตอนการก่อสร้างพระบรมรูปทรงงานนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงหล่อพระบรมรูป ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศน์วิหาร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักกรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเจิมแผ่น ทอง เงิน นาค เพื่อนำไปประกอบพิธีเททอง หล่อพระบรมรูปขณะทรงงาน เมื่อวันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2555 เวลา 17:30 น. ณ ห้องชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
ปัจจุบันแผ่นเจิม ทอง เงิน นาค อยู่ภายในพระบรมรูปทรงงาน ซึ่งกรมทางหลวงได้ดำเนินการประดิษฐานอยู่ ณ สวนสุขภาพลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 โดยมีพิธีบรรจุแผ่นศิลาจาลึกพระราชทานในเวลา 9:00 น. และมีพิธีอัญเชิญพระบรมรูปทรงงาน ขึ้นประดิษฐานยังแท่นฐานในเวลา 15:39 น.
หมายเหตุ : พระบรมรูปทรงงานมีขนาดความสูง 2 เมตร 30 เซนติเมตร
ผมมีโอกาสเดินทางไปพระบรมรูปทรงงานแล้ว 4 ครั้ง ทั้งวิธีใช้รถข้ามสะพานภูมิพล 1 วิ่งไป ใช้เรือข้ามฟากจากท่าเรือในสวนศิลาฤกษ์ ใต้สะพานภูมิพล 1 พบว่าเส้นทางที่ชอบที่สุดเป็นวิธีการข้ามเรือจากฝั่งกรุงเทพไปยังฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมรูปทรงงาน
การเดินทางวิธีนี้ ผมจะได้เห็นความแตกต่างของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนฝั่งกรุงเทพกับฝั่งธนบุรีที่ดูแตกต่างกันทั้งที่อยู่ห่างกันแค่เพียง 1 ความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งกรุงเทพสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยตึกสูง คอนโด ถนนหนทางที่กว้างใหญ่ ส่วนฝั่งธนบุรี สภาพบ้านเรือนยังเป็นบ้านหลังเล็กๆ บ้านไม้ และมีวัดรอบๆ สวนสุขภาพมากกว่า 9 วัด
การเดินทางโดยการข้ามเรือ ผมจะได้เห็นประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามชวนให้รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางวิศวกรรมในการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับชาวพระประแดง เมื่อข้ามไปถึงแล้ว เราจะได้เห็นภาพแปลกตา เมื่อขึ้นไปยืนบนสะพานข้ามคลองลัดโพธิ์ เราจะสามารถเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาได้จากทั้งซ้ายและขวา เป็นภาพที่แปลกตามากครับ
เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณทางเข้าสวนสุขภาพลัดโพธิ์ จะมีแผ่นศิลาหินแกะสลักเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ทางด้านซ้ายและขวา พร้อม 9 พระราชดำรัส ซึ่งคัดสรรมาแล้วว่า สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำรงค์ชีวิตของเราครับ
พระบรมรูปทรงงานประดิษฐานอยู่ด้านใน ตรงกึ่งกลางประตูทางเข้า ทางเดินเข้าไปกว้างขวาง เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระองค์ บริเวณพระบรมรูปล้อมรอบด้วยผนังที่ฟอร์มตัวเป็นรูปคล้ายอุณาโลมหรือเลข ๙ ไทย
ในความเห็นผมจากที่มาอยู่บริเวณนี้ 4 ครั้ง ในรอบ 1 อาทิตย์
ผมคิดไปเองว่า การที่พระองค์เลือกพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงงานเป็นต้นแบบในการสร้างพระบรมรูปทรงงานนั้น พระองค์ทรงแฝงคำสอนอะไรบางอย่างไว้ ผมคิดไปเองว่า พระองค์อยากให้ประชาชนของพระองค์คิดถึงพระองค์ในฐานะกษัตริย์ที่ทรงงานหนัก อยากให้ประชาชนตามรอยเบื้องยุคลบาทด้วยการทำงานหนักเฉกเช่นสมัยที่พระองค์ทรงงาน
การสร้างพระบรมรูปทรงงานที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก แม้ว่าแบบครั้งแรกที่ทางราชการเสนอมา จะประดิษฐานพระองค์ไว้สูงเสียดฟ้า แต่พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างเพียงเท่านี้ สั่งสอนถึงความหมายของ ความพอเพียง อย่างแท้จริง
การใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์สร้างพระบรมรูปเอง ตามพระราชประสงค์แรก เป็นปรัชญาหนึ่งที่สามารถสอนข้าราชการได้ว่า หากงานไหนเป็นงานส่วนตัว ก็ไม่ควรใช้เงินของหลวง
ฉากแบ็คกราวน์ด้านบนพระบรมรูปทรงงานที่เป็นโครงสร้างสะพานภูมิพลที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม ตอกย้ำให้เราระลึกถึงพระองค์ในแง่ที่เป็น กษัตริย์ที่ทรงงานหนัก มองขึ้นไปกี่ครั้ง กี่ครั้ง ก็ได้พลังงานอะไรบางอย่างที่จะทำให้ ผมมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก ตามรอยเบื้องยุคลบาท ครับ
ภาพสะพานภูมิพล โดย ท.พ. แสงชัย โสภณสกุลสุข
ภาพพระบรมรูปทรงงาน โดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร และ เกรียงศักดิ์ สุทธิวีระวัฒน์
ข้อมูลจากเอกสารราชการ กรมทางหลวงชนบท
ตามข้อมูลของราชการ ปัจจุบันสะพานภูมิพลยังมิได้เปิดเป็นทางการจากพระองค์ หลังจากพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับทางชลมารค พระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินทางรถยนต์ข้ามสะพานเพื่อเปิดสะพานภูมิพล แต่ยังไม่เคยมีการเสด็จพระราชดำเนินข้ามสะพานภูมิพลนับแต่วันนั้น
เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
Chalermwong B.Kajorn
ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.
23 / 10 /2559
https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/
Official Line : @golferonline