คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 4/2
เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
09 Oct 2016
- Shares:
Biomechanics
การตีไดร์ฟเวอร์ให้ได้ระยะไกลนั้นเป็นเทคนิคชั้นสูงที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ยิ่งสรีระของชาวเอเชียเสียเปรียบฝรั่งค่อนข้างมาก เรายิ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ มากกว่าฝรั่งเสียอีก ซึ่งเทคโนโลยีที่จะช่วยทําให้นักกอล์ฟสามารถค้นหาวิธีการสวิงให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นเป็นเรื่องของ Biomechanics ฟังดูแล้วเรื่องนี้อาจไกลตัว เรามักจะเห็นหรือได้ยินเรื่องเหล่านี้เฉพาะในต่างประเทศ แต่น่าดีใจที่เมืองไทยมีคนที่ยังให้ความสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาอยู่บ้าง
โดยมีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งชื่อ กลุ่มวิจัยและพัฒนา สํานักวิทยาศาสตร์การกีฬาได้ตั้งโครงการการวิเคราะห์วงสวิงสําหรับการตีกอล์ฟให้มีประสิทธิภาพและลดอาการบาดเจ็บ โดยได้นําเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ประกอบไปด้วย
1. กล้องบันทึกภาพวิดีโอความเร็วสูง สามารถบันทึกภาพได้ละเอียดถึง 100 เฟรมต่อวินาที
2. เครื่องมือวิเคราะห์การเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติระบบ Optical System สามารถจําลองภาพการสวิงของนักกอล์ฟแบบละเอียดถึง 500 เฟรมต่อวินาที
3. เครื่องมือวัดน้ำหนักกดที่เท้าทั้งสองข้างขณะสวิง ซึ่งสามารถวัดค่าน้ำหนักกดได้ถึง 1,000 ค่าใน 1 วินาที
4. โปรแกรมวิเคราะห์การเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติที่ประมวลผลด้วยคณิตศาสตร์ชั้นสูง
ในการวิจัยของหน่วยงานนี้นักกอล์ฟตัวอย่างจะถูกติดตั้ง Marker ซึ่งจะสะท้อนแสงกับกล้องจับแสงสะท้อน เพื่อจับพิกัดของการเคลื่อนไหวในการสวิง โดย Marker จะถูกติดตั้งไว้จํานวน 14 จุด ตามตําแหน่งร่างกายตามข้อพับต่างๆ อุปกรณ์กอล์ฟ และลูกกอล์ฟ หลังจากนั้นนักกอล์ฟจะขึ้นไปสวิงบนพรมซ้อมกอล์ฟ ซึ่งมีเซนเซอร์ที่ใช้ในการวัดแรงกดของเท้าทั้งสองข้างซึ่งซ่อนไว้ใต้พรม หลังจากนั้นก็ให้นักกอล์ฟสวิงเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ นําไปวิเคราะห์
ผมทราบข้อมูลหน่วยงานนี้จากเพื่อนที่เป็นสมาชิกอยู่ในเว็บไซต์พันทิป เลยติดต่อเพื่อขอทราบรายละเอียดโครงการ
โครงการนี้เป็นโครงการนําร่องสําหรับวิเคราะห์วงสวิงสําหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นเท่านั้น ก็เลยได้ขออนุญาตจากผู้อํานวยการสํานักในการนําโปรกอล์ฟบางส่วนไปเป็นกลุ่มตัวอย่างด้วย เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างโปรและนักกอล์ฟสมัครเล่นเพื่อตอบปัญหาต่างๆ ที่ผมเคยสงสัยมานาน และนําผลของการวิเคราะห์เหล่านี้นําเสนอต่อผู้อ่าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของงานวิจัยเท่านั้น ในส่วนของงานวิจัยฉบับเต็มจากสํานักวิทยาศาสตร์การกีฬา อยู่ในหนังสือทางวิชาการของหน่วยงานนี้ ซึ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอาการบาดเจ็บ
เรามักเคยได้ยินโปรสอนกอล์ฟสอนว่าเวลาขึ้นแบ็คสวิงให้ขึ้นช้าๆ อย่าเร่งรีบขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความหมายของการให้ขึ้นช้าๆ นั้น ใช้สําหรับซ้อมตอนที่วงสวิงของนักกอล์ฟยังไม่ถูกต้องนัก ซึ่งการที่เราจะสามารถจดจําวงสวิงที่ถูกต้อง เราอาจจะต้องซ้อมขึ้นแบ็คสวิงอย่างช้าๆ ก่อนในช่วงแรกๆ ซ้อมจนเคยชิน พอชํานาญแล้วจึงขึ้นแบ็คสวิงด้วยความเร็วที่เป็นธรรมชาติของตัวเรา
สิ่งที่สําคัญคือพยายามใช้ความเร็วที่เป็นธรรมชาติ สวิงให้ไหลลื่นกลมกลืนและกลมเกลียว โดยไม่ต้องตั้งใจแบ็คสวิงให้ช้าๆ เหมือนที่โปรเคยสอน เรื่องนี้ก็เหมือนกับการขี่จักรยาน ตอนแรกๆ ที่เรายังขี่จักรยานไม่เป็นนั้น เราอาจจะต้องค่อยๆ ปั่น หาจังหวะการขี่ที่เราสามารถทรงตัวได้โดยไม่ล้ม เราต้องจับแฮนด์อย่างไร ตั้งแนวจักรยานอย่างไร โดยเฉพาะตอนเริ่มปั่น เริ่มออกตัวอย่างช้าๆ ประคองจักรยานให้มั่นคง ก่อนที่เริ่มเพิ่มความเร็วในการปั่น แต่พอเราขี่จักรยานเป็นแล้ว ชํานาญแล้ว เวลาเราขึ้นจักรยานแล้วเราก็ไม่ต้องประคอง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการทรงตัว เราสามารถใช้ความเร็วได้ตั้งแต่ตอนออกสตาร์ทตอนขึ้นคร่อมจักรยานได้เลย ฉันใดก็ ฉันนั้น กอล์ฟสวิง ก็คงเหมือนกัน เมื่อเราฝึกพื้นฐานการสวิงจนผ่านแล้ว การขึ้นแบ็คสวิง ก็ไม่จำเป็นต้องไปประคองมัน ปล่อยให้มันลื่นไหลขึ้นไปตามธรรมชาติของสวิงเรา
เรื่องนี้มีเหตุผลเสริม จากงานวิจัยของจอห์น โนโวเซล ที่ได้ทําการศึกษาวีดิโอบันทึกภาพถ่ายของโปรกอล์ฟชั้นนํา ซึ่งเขาค้นพบว่าระยะเวลาที่นักกอล์ฟใช้ในการขึ้นแบ็คสวิงจากตําแหน่งเริ่มสตาร์ทจนถึงท็อปสวิงกับระยะเวลาในการดาวน์สวิงจนถึงตําแหน่งอิมแพค มีอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันคือระยะเวลาในการขึ้น 3 ส่วนและลง 1 ส่วน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมในการสวิง เขายังค้นพบต่อไปว่าเวลาที่นักกอล์ฟตีผิดพลาด อัตราส่วนมักจะผิดไปจาก 3:1
มีนักกอล์ฟบางคนตีความหมายสัดส่วนตรงนี้ผิดไป โดยบอกว่าค่า 3 คือระยะเวลาในการขึ้นวงสวิงมากกว่าค่า 1 ซึ่งเป็นระยะเวลาในการดาวน์สวิง แล้วตีความว่า 3 มากกว่า 1 หมายความว่าให้แบ็คสวิงช้าๆ เป็นการทําความเข้าใจไม่ถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคําว่าอัตราส่วน 3:1 หมายความว่าถ้าเราขึ้นแบ็คสวิงช้าเกินไป เราก็จะสูญเสียโอกาสในการสร้างความเร็วหัวไม้ให้เร็วขึ้น
เพราะถ้าเราขึ้นช้า เราก็ควรดาวน์สวิงช้าตามมาด้วย
เพื่อให้อัตราส่วนยังคงอยู่ที่ 3:1
ตอนที่ผมอ่านบทความนี้จากหนังสือของจอห์น โนโวเซล ด้วยความสงสัยว่า ตัวเลขในหนังสือนั้นจริงเท็จขนาดไหน ผมเลยลองเอากล้อง SONY รุ่นหนึ่งไปบันทึกวงสวิงของโปรแอลพีจีเอทัวร์ที่มาแข่งขันในเมืองไทย กล้องรุ่นนี้บันทึกภาพวีดิโอด้วยอัตรา 30 เฟรม ต่อวินาที ผมไปบันทึกภาพแอนนิก้า โซแรนสตัม แครี่ เว็บบ์ เจิ้ง หย่าหนี ชอย นา ยอน ไอ มิยาซาโตะ รวมถึงโปรไทยท่านอื่นๆ ในยุคนั้น และโปรเม ช่วงที่อายุยังไม่เกิน 15 ปีครับ หลังจากบันทึกวีดีโอแล้ว ก็นำภาพไปเพลย์ดูทีละเฟรม แล้วลองนับจำนวนเฟรมการขึ้นแบ็คสวิงดู พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว โปรที่ผมเอ่ยชื่อมาทั้งหมดด้านบน ใช้จำนวนเฟรมในการขึ้นแบ็คสวิงไม่ถึง 30 เฟรม (24-32 เฟรม) และ เริ่มดาวน์สวิงจนอิมแพคไม่เกิน 10 เฟรม ( 8-10 เฟรม) แต่การบันทึกในยุคนั้น ได้ข้อมูลของโปรไทย โปรเม ในวัยเด็ก และ ไอ มิยาซาโตะ มีจำนวนเฟรมตอนขึ้นแบ็คสวิง มากกว่า 30 เฟรม (32-42 ) ดาวน์สวิง มากกว่า 10 เฟรม ( 10-11 เฟรม )
ในความเป็นจริงแล้วการฝึกวงสวิงในระดับที่สูงขึ้น เราต้องฝึกแบ็คสวิงให้เร็วขึ้น เพื่อให้การดาวน์สวิงเราสามารถเร่งความเร็วลงมาได้โดยที่ยังสามารถรักษาความไหลลื่น ( Smooth ) ของวงสวิงไว้ได้ ผลลัพธ์สุดท้ายแล้วความเร็วหัวไม้เราก็จะสูงขึ้น และยังสามารถควบคุมทิศทางให้สม่ำเสมอได้ แต่การซ้อมลักษณะนี้ได้เราต้องฝึกพื้นฐานวงสวิงให้ถูกต้องถูกตําแหน่งอย่างช้าๆ ก่อนในช่วงแรก แล้วค่อยๆ เพิ่มระดับความเร็วจนอยู่ในระดับที่เราสามารถควบคุมมันได้ โปรเมในยุคที่ไม่ต้องพึ่งไดรเวอร์ ก็ขึ้นแบ็คสวิงหัวแฟร์เวย์ วูด โดยใช้จำนวนเฟรมน้อยกว่า 30 เฟรม โดยโปรเม ขึ้นแบ็คสวิง 22 เฟรม และดาวน์สวิง 7 เฟรม
แบ็คสวิง 22 เฟรม ดาวน์สวิง 7 เฟรม
จากการเก็บตัวอย่างนักกอล์ฟในห้องปฏิบัติการ Biomechanics พบว่านักกอล์ฟสมัครเล่นที่สามารถสร้างความเร็วหัวไม้เกิน 100 MPH ล้วนมีระยะเวลาในการแบ็คสวิงไม่เกิน 1 วินาที ( ใช้จำนวนเฟรมในการขึ้นแบ็คสวิง น้อยกว่า 30 ภาพ ) นักกอล์ฟบางคนอาจใช้เวลาแบ็คสวิง 0.9 วินาที ดาวน์สวิงจนอิมแพค 0.300 วินาที หรือแบ็คสวิง 1 วินาที ดาวน์สวิง 0.333 วินาที เป็นต้น และโปรกอล์ฟที่เราเชิญมาทดสอบล้วนใช้เวลาในการแบ็คสวิงไม่ถึง 0.95 วินาที
แต่นักกอล์ฟสมัครเล่นหลายคนที่ตีไม่ไกลและความเร็วหัวไม้ไม่สูงนักใช้เวลาในการแบ็คสวิงเฉลี่ย 1.23 วินาที และดาวน์สวิงเฉลี่ย 0.42 วินาที การเก็บตัวอย่างนักกอล์ฟในกลุ่มนี้ มีบางคนเข้าใจตัวเองผิดมาตลอดว่าขึ้นแบ็คสวิงเร็วเกินไป จึงได้ฝึกฝนให้แบ็คสวิงช้ากว่านี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนักกอล์ฟคนนี้ใช้เวลาในการแบ็คสวิงไปถึง 1.28 วินาที
ในเอกสารของ จอห์น โนโวเซล ยังสรุปตัวเลขออกมาว่าค่ามาตรฐานสําหรับเวลาที่ใช้ในการแบ็คสวิงจนถึงอิมแพคอยู่ที่ 1.2 วินาที นอกจากนั้นแล้วเขายังให้ข้อมูลตัวเลขของเวลาในการสวิงของโปรชั้นนําตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันตามตารางที่ 3 แสดงเวลาที่ใช้ในการสวิงของโปรกอล์ฟชั้นนํา
ตอนที่ไปทำการทดสอบในห้องปฎิบัติการนี้ ผมลองให้โปรก็อตลองทดสอบสวิงแบบต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุหลักๆ ที่ทำให้นักกอล์ฟตีไม่ไกล เพื่อลองหาดูว่า ความผิดพลาดของนักกอล์ฟในเรื่องนั้นๆ สูญเสียโอกาสในการเพิ่มระยะทางไปกี่หลา
Delay Hit
Delay Hit คําๆ นี้ได้ยินมานานมาก เป็นระบบการสวิงที่มีการรักษามุมของข้อมือให้คงอยู่ก่อนที่จะไปปล่อยเอาในช่วงใกล้ๆ อิมแพค เชื่อกันว่านักกอล์ฟที่สามารถรักษามุมตรงนี้ไว้ได้ ตีไกลทุกคน ในการทดลองในห้องปฏิบัติการ Biomechanics นั้น เราได้ทําการทดลองเพื่อค้นหาว่าการรักษามุมของข้อมือไว้ จะช่วยทําให้ความเร็วหัวไม้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ในการทดลองเราให้โปรก็อตสวิงด้วยจังหวะเดิม แล้วตั้งใจที่จะคลายข้อมือตั้งแต่เริ่ม Down Swing เลย
ผลของการทดสอบครั้งนี้
โปรก๊อตมีความเร็วหัวไม้ที่จุดอิมแพคลดลงเฉลี่ย 7 MPH ซึ่งทุกๆ ความเร็วหัวไม้ที่ลดลง 1 MPH จะทําให้ระยะทางลดลงประมาณ 2.9 หลา หมาย ความว่าการคลายข้อมือที่เร็วเกินไปนั้น จะทําให้นักกอล์ฟตีสั้นไปอย่างน้อย 20 หลา และเรายังนํารูปแบบการทดลองนี้ไปทดลองกับโปรสบง ก็พบว่าความเร็วหัวไม้ที่ตําแหน่งอิมแพคลดลงถึง 10 MPH ซึ่งเท่ากับระยะที่ลดลงถึง 29 หลา จากการดูกราฟความเร็วหัวไม้ตลอดการสวิง พบว่าบางครั้งการตั้งใจคลายข้อมืออย่างรวดเร็ว ความเร็วหัวไม้สูงสุดก็ไม่ได้ลดลงมาก บางตัวอย่างอาจเท่าเดิม แต่ว่าความเร็วหัวไม้สูงสุดนั้นๆ เกิดขึ้นก่อนตําแหน่งอิมแพค แล้วพอใกล้ๆ อิมแพคความเร็วหัวไม้กลับลดลงมาก
ในการทดลองขั้นต่อไป เราสงสัยว่าหากนักกอล์ฟไม่ได้มีการหักข้อมือตั้งแต่ตอนขึ้น จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือนักกอล์ฟจะไม่มีมุมของข้อมือตั้งแต่เริ่มต้นของการสวิงเลย ซึ่งส่งผลมาถึงการดาวน์สวิงที่ไม่มีมุมของข้อมือตามมาด้วย จังหวะ Delay Hit ก็จะไม่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งลักษณะการสวิงแบบนี้มักเกิดขึ้นกับนักกอล์ฟที่จับกริพแน่นจนเกินไปหรือนักกอล์ฟที่ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องกลไกของการสวิง เราบอกให้โปรก็อตตั้งใจสวิงแบบไม่มีการหักข้อมือตอนแบ็คสวิง ให้ขึ้นไม้แบบทื่อๆ แล้วพยายามดาวน์สวิงลงมาด้วยจังหวะเดิม ซึ่งผลที่ตามมาของการสวิงโดยไม่มีการหักข้อมือตั้งแต่ตอนแบ็คสวิงนั้น
ความเร็วหัวไม้ของโปรก็อตที่จุดอิมแพคลดลงเฉลี่ย 12 MPH เท่ากับระยะทางลดลง 35 หลา
Weight Transfer
ระบบการถ่ายน้ำหนักขณะสวิงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสําคัญช่วยทําให้นักกอล์ฟตีได้หนักแน่นขึ้น และแน่นอนว่าย่อมไกลขึ้นตามมาด้วย โดยเฉพาะการถ่ายน้ำหนักไปยังเท้าหน้าขณะดาวน์สวิง ซึ่งก็คือเท้าซ้ายของคนถนัดขวา เรื่องนี้สามารถยกตัวอย่างกีฬาชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจจะเห็นภาพได้มากขึ้น ในการเสิร์ฟลูกเทนนิสนั้น นักกีฬาจะต้องใช้ขาข้างใดข้างหนึ่งยันไว้และตอนเสิร์ฟก็ถ่ายน้ำหนักไปข้างหน้า เพื่อเสิร์ฟให้ลูกมีความรุนแรง การทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าหน้าก็คล้ายกับระบบการถ่ายน้ำหนักในกีฬากอล์ฟ หากนักเทนนิสเสิร์ฟลูกขณะยืนอยู่กับที่หรือกําลังถอยหลัง หรือตีโต้ในขณะที่กําลังถอยลูกเทนนิสย่อมไม่มีความรุนแรง หรือแม้แต่กีฬามวยก็สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน สังเกตว่าหมัดที่หนักๆ สามารถน็อคคู่ต่อสู้ได้จะไม่ใช่หมัดแย็บแล้วถอย แต่หมัดที่หนักคือหมัดที่มีการทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าหน้าขณะต่อยเช่นหมัดตรงเป็นต้น
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นนี้สามารถอธิบายความเร็วในการสวิงหัวไม้ของนักกอล์ฟได้เป็นอย่างดี นักกอล์ฟที่ไม่ยอมถ่ายน้ำหนักไปที่เท้าหน้า หรือมีการสวิงที่ผิดพลาดเช่นถ่ายน้ำหนักสลับทางกัน (Revert Pivot) ก็จะสูญเสียความสามารถในการสร้างความเร็วหัวไม้นั่นเอง
การเก็บตัวอย่างนักกอล์ฟในห้องปฏิบัติการ Biomechanics นั้น พบว่านักกอล์ฟที่สามารถสร้างความเร็วหัวไม้ได้สูง จะสามารถสร้างแรงกดบนเท้าหน้า (เท้าซ้ายสําหรับคนสวิงมือขวา) ได้มากกว่าน้ำหนักตัวราว 1.2 เท่าขึ้นไป ส่วนนักกอล์ฟที่มีปัญหาตีไดร์ฟเวอร์ด้วยความเร็วต่ำเกินไป สามารถสร้างแรงกดที่เท้าหน้าได้เท่ากับน้ำหนักตัวหรือน้อยกว่า
หลังจากที่เราประมวลผลการทดลองเรื่องการถ่ายน้ำหนักนี้แล้ว เราได้พูดคุยกับโปรสบง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วมี Swing Tempo และระบบ Delay Hit รวมถึงมีพื้นฐานวงสวิงที่ดีอยู่แล้ว เพื่อให้โปรสบงลองเน้นระบบการถ่ายน้ำหนักมากขึ้น หลังจากนั้นเราได้ทําการวัดความเร็วหัวไม้ให้กับโปรสบงใหม่ในอาทิตย์ต่อมา พบว่าโปรสบงสามารถเพิ่มความเร็วหัวไม้จากเดิม 109 MPH เป็น 116 MPH
จากผลงานวิจัยในห้องปฏิบัติการนั้นทําให้เรามีข้อมูลอ้างอิงที่เป็นค่าทางคณิตศาสตร์ สามารถเชื่อมโยงหาเหตุผลของเทคนิคการตีไกลได้อย่างถ่องแท้ อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ข้อมูลในฉบับนี้เป็นเพียง 20% ของทั้งหมดที่เรามีอยู่ แต่เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นกับนักกอล์ฟจํานวนมากที่ตีไม่ได้ระยะเท่าที่ควร สําหรับข้อมูลส่วนที่เหลือนั้นเราจะนําไปวิเคราะห์และเอามานําเสนอต่อไป
อ่านคัมภีร์ไดรฟไกลตอนก่อนหน้านั้น คลิ๊ก
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 1
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/1
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/2
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/3
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/4
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/5
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/6
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 3
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 4/1
เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
Chalermwong B.Kajorn
ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.
14 / 9 /2559
https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/
Official Line : @golferonline
Tags : ตีไกล , ไดรฟ 300 หลา , เทคนิคตีไกล , ไดรเวอร์ , Driver , Drivers , Wood , Woods , หัวไม้ , หัวไม้ 1 , FlightScope , LongestDrive , Longest Drive , Long Drive , LongDrive Power PowerTips Power Tips PowerTip PowerTip