PRINCESS OF GOLF

โปรอุ๋ย เจ้าหญิงแห่งวงการกอล์ฟ

13 Jul 2016
  • Shares:

               

           เรื่องที่จะอ่านต่อไปนี้ เป็นบทความที่เขียนไว้ในนิตยสารกอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ ฉบับ 106 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2549

              วิรดา นิราพาธพงศ์พร นักกอล์ฟสาวผู้มีเป้าหมายในเกมกอล์ฟที่ชัดเจน มีพลังและสติปัญญาที่ดีเลิศ พร้อมที่จะผลักดันตนเองให้พัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

 

              Cover Story ฉบับนี้ผมมีความตั้งใจเป็นพิเศษที่จะนำเสนอเรื่องราวของสาวน้อยมหัศจรรย์ในวงการกอล์ฟไทย ผู้ซึ่งสร้างความภูมิใจให้กับประเทศไทย ทั้งในเรื่องฝีมือกอล์ฟ การศึกษา และการวางตัวให้สมกับความเป็นกุลสตรีไทย ผมใช้เวลารวบรวมข้อมูลจากทุก ๆ แหล่งเป็นเวลา 5 วัน และได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษโดยการเป็นแขกไปเยือนถึงที่บ้านของเธอที่กรุงเทพ และใช้ข้อมูลจากบุญเก่าที่ได้เฝ้าติดตามด้วยความชื่นชมส่วนตัวมาตลอดในการแข่งขันรายการต่าง ๆ ในอเมริกา ซึ่งต้องอาศัยการติดตามทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

       วิรดา นิราพาธพงศ์พร หรืออุ๋ย โปรสาวสายเลือดไทยที่มีผลงานชนะรายการต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน

 

สมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ก่อกำเนิดสตาร์อุ๋ย

   อุ๋ย  เป็นบุตรของรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุปราณี นิราพาธพงศ์พร และนายแพทย์อภิชาติ นิราพาธพงศ์พร ลืมตาดูโลกครั้งแรกในวันที่ทั่วทั้งกรุงเทพมีการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2525 เริ่มจับไม้กอล์ฟครั้งแรกเมื่ออายุได้ 2 ขวบกว่า ๆ ซึ่งเป็นไม้กอล์ฟพลาสติกที่คุณพ่อซื้อให้ อาจกล่าวได้ว่า แมวมองคนแรกของกีฬากอล์ฟก็คือคุณพ่อของเธอนั่นเอง จากการเฝ้าสังเกตการสวิงกอล์ฟในวัยเด็กซึ่งดูมีความเป็นธรรมชาติแตกต่างจากเด็กคนอื่น มิอาจเล็ดลอดสายตาคุณพ่อนักกอล์ฟมือซิงเกิ้ลแฮนดิแคป จนคุณพ่อมีภาพความฝันบางอย่างอยู่ในใจ...

      ในช่วงวัยเด็กนั้น อุ๋ยมิได้เริ่มต้นเอาดีทางด้านกีฬากอล์ฟก่อน อุ๋ยเริ่มต้นด้วยการเป็นเงือกน้อย ผู้ซึ่งรักการว่ายน้ำเป็นชีวิตจิตใจเมื่อตอนเรียนอยู่สาธิต มศว.ประสานมิตร จนได้เป็นนักกีฬาโรงเรียน ได้รับเหรียญรางวัลมากมายตอนอยู่ชั้นประถม และถึงแม้ว่าเธอจะเล่นกอล์ฟบ้างเนื่องจากว่าเป็นกีฬาของครอบครัวซึ่งจะเล่นกันประจำในช่วงสุดสัปดาห์ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และพี่ชายของเธอ แต่ดูเหมือนว่าเธอชอบที่จะเป็นราชินีในสระน้ำมากกว่า จวบจนกระทั่งพี่ชายเธอคว้าถ้วยรองชนะเลิศเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 11 ปี จากการแข่งขันกอล์ฟเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย และนำถ้วยกลับมาพร้อมกับการได้รับความชื่นชมจากคุณพ่อและคุณแม่ และแน่นอนหนึ่งในนั้นคืออุ๋ยซึ่งจับตามองถ้วยใบนั้นและรู้สึกชื่นชมกับความเก่งของพี่ชาย อุ๋ยเริ่มฉายแววความเป็นคนที่มีเป้าหมายและความตั้งใจตั้งแต่เด็ก ๆ

เธอกล่าวไว้สั้น ๆ ว่า อุ๋ยจะต้องได้ถ้วยรางวัลชนะเลิศบ้างŽ

หลังจากนั้นอุ๋ยก็ยอมขึ้นจากสระแต่โดยดี มาฝึกซ้อมกอล์ฟกับแมวมองและครูคนแรกของเธอ ก็คือคุณพ่ออภิชาติ

นักกีฬาที่จะเป็นสุดยอดนักกีฬาในอนาคต มักสร้างเรื่องราวที่น่าทึ่งตั้งแต่วัยเด็ย อุ๋ยก็เช่นกัน นับว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากที่อุ๋ยสามารถคว้าแชมป์ได้เลยในการแข่งขันกอล์ฟครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 11 ขวบ ในการแข่งขันกอล์ฟเยาวชนรายการใหญ่ ของสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทยในรุ่นอายุต่ำกว่า 11 ปี

หลังจากนั้นอุ๋ยก็ตระเวนแข่งขันรายการต่างๆ ในเมืองไทยและเมืองนอก และเป็นตัวแทนนักกอล์ฟเยาวชนไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศมามากมาย มากมายเกินกว่าที่ตอนก่อนเล่นกอล์ฟ ที่เธอแค่ต้องการถ้วยบ้าง 

 

จนถึงจุด ๆ หนึ่ง ที่อุ๋ยและพ่อร่วมกันตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องไปหาประสบการณ์ในต่างแดน ด้วยเป้าหมายหลักตั้งแต่ตอนนั้นว่าเธอจะต้องเล่นใน  LPGA

 

ผลงานระดับเยาวชนในเวทีโลก

                อุ๋ยเริ่มจากเมืองไทยครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี โดยเดินทางไปศึกษาต่อที่จีลอง แกรมม่า สคูล ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพี่ชายเธอเรียนอยู่ที่นั่นแล้ว พ่อของเธอต้องการฝึกฝนให้ช่วยเหลือตัวเองและฝึกฝนทางด้านภาษาอังกฤษให้พร้อม ก่อนที่อุ๋ยจะต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตด้วยการย้ายไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นั่นต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ปราศจากพี่ชายที่ยังคงศึกษาต่อในออสเตรเลีย และครอบครัวที่อยู่เมืองไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าการศึกษาในออสเตรเลียควบคู่ไปกับการเล่นกอล์ฟนั้นจะทำได้ไม่สะดวกนัก  บางช่วงเวลาเธอถึงกับไม่ได้เล่นกอล์ฟเลย ซึ่งการศึกษาในอเมริกาควบคู่ไปกับการเล่นกอล์ฟจะได้รับการสนับสนุนที่ดีกว่า  ในตอนแรกที่เธอต้องอยู่คนเดียวในอเมริกานั้น อุ๋ยเล่าให้ฟังว่า รู้สึกเหงาและรู้สึกท้อที่สุดในชีวิต มันเป็นย่างก้าวที่เสียสละมากที่สุดในชีวิต ต้องจากบ้านไปตั้งแต่อายุ 15 ปี ไปคนเดียว และต้องเผชิญกับความเหงา การเรียนที่ยาก ประกอบกับภาษาที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งฝีมือการเล่นช่วงนั้นก็ไม่ดีนัก ถึงกับต้องโทรหาคุณแม่และร้องไห้อยู่บ่อย ๆ จนคุณแม่เริ่มจะใจอ่อนโดยขอคุณพ่อให้พาลูกสาวกลับบ้าน แต่คุณพ่อก็ใจแข็งไม่ยอมให้กลับ เพื่อฝึกฝนให้ลูกสาวดูแลตัวเองให้ได้

      หลังจากนั้นด้วยการดูแลและการให้คำปรึกษาอย่างดีจากโค้ชและเธอก็เริ่มปรับตัวได้ อุ๋ยก็เริ่มตั้งเป้าและมีจุดมุ่งหมายที่พร้อมจะผลักดันตัวเองเพื่อไปสู่เป้าหมายขั้นต่อไป  อุ๋ยเล่าให้ฟังว่า  เคยคุยกับพ่อว่าอยากกลับบ้าน  อุ๋ยบอกพ่อว่าอยู่เมืองไทยก็ดีนะ เล่นกอล์ฟก็ชนะตลอด ทำไมต้องมาอยู่ทีอเมริกาด้วย ที่นี่เราเป็น NobodyŽ ไม่มีใครรู้จักเรา แต่การที่อุ๋ยพูดออกไปอย่างนั้น เธอบอกต่อไปว่า เธอก็ได้ยินเสียงตัวเองสะท้อนกลับมาว่า เอ๊ะ!! นี่เรากำลังกลัวอยู่หรือ ถ้าเราอยู่ในที่ๆ เล่นแบบสบาย ๆ มันก็ไม่ได้พัฒนาฝีมือเราให้ดีขึ้น เราต้องไปอยู่ในที่ ๆ มีการแข่งขันสูงขึ้น มีคนเก่ง ๆ เราต้องไปอยู่ในที่ ๆ ทำให้เราพัฒนาต่อไปŽ นอกเหนือจากนั้นด้วยความกตัญญูที่เธอมีต่อครอบครัวเธอนึกเสมอว่าเธอต้องเรียนและเล่นกอล์ฟให้ดี ให้ได้ทุนการศึกษาแบบ Full Scholar Ship ให้ได้ (ทุน Full Scholar Ship คือทุนการศึกษาที่นักศึกษาได้รับทุน 100 % ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนและในเรื่องอุปกรณ์เลย) 

 

ด้วยฝีมือการเล่นกอล์ฟที่ยอดเยี่ยมของเธอ ทำให้เมื่อตอนที่เธอไปเรียนกอล์ฟในสถาบันของ David Leadbetter ที่ฟลอริด้า เพื่อพัฒนาฝีมือขึ้นไปอีก โดยตอนแรกตั้งใจว่าจะจ่ายค่าใช้จ่ายเอง สุดท้ายเธอได้ทุนของสถาบันที่เล็งเห็นศักยภาพในฝีมือกอล์ฟและพร้อมสนับสนุน เพื่อแลกกับการได้เธอมาร่วมในทีมตระเวนแข่งขันในอเมริกาและเพื่อเป็นการโปรโมทสถาบัน

                ในตอนแรกที่เธออยู่ในอเมริกา เล่นใน AJGA ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนท์ระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาชื่อของเธอไม่เป็นที่รู้จักนัก เพราะในอเมริกานั้นเต็มไปด้วยนักกอล์ฟเยาวชนที่เก่งกาจ AJGA เป็นสุดยอดทัวร์ของโลกที่เต็มไปด้วยนักกอล์ฟเยาวชนฝีมือดีจากทั่วทุกมุมโลก แต่ด้วยความมุ่งมั่นและเป้าหมายที่เธอตั้งเอาไว้อย่างชัดเจนว่าวันหนึ่งเธอจะต้องไปเล่นใน LGPA สุดยอดทัวร์นาเมนท์ของโปรหญิงให้ได้ ทำให้เธอต้องผลักดันตัวเองให้ผ่านด่านแรกนี้ให้ได้ จนสุดท้ายเธอก็ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศมามากมาย รวมถึงรางวัลเกียรติยศ 1999 Junior Player of The Year ของ Golf Week และรางวัล AJGA Sportsmanship Award ซึ่งรางวัลหลังนั้นสร้างความภาคภูมิใจให้กับคุณพ่ออภิชาติมาก เพราะรางวัลดังกล่าวนอกเหนือจากให้โดยการตัดสินจากฝีมือการเล่นกอล์ฟแล้ว ยังพิจารณารวมถึงความประพฤติ  นั่นแสดงว่าเธอเป็นบุคคลดีเด่นในสังคม ถ้าเป็นผู้ชายอาจกล่าวได้ว่าเป็นสุภาพบุรุษนักกอล์ฟ สำหรับผู้หญิงอาจจะกล่าวได้ว่า

 

อุ๋ยเป็นกุลสตรีนักกอล์ฟ

      หลังจากที่เธอปรับตัวเข้ากับความเป็นอยู่ในอเมริกาได้แล้ว เกมกอล์ฟเธอก็พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วสามารถยืนหยัดต่อสู้กับนักกอล์ฟเยาวชนจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี จนเธอได้รับเลือกให้ติด First Team All American ในปี 2541-2543      

      การที่ชื่อเธออยู่ใน First Team นั้น ถือเป็นเกียรติยศขั้นสุดยอดเนื่องจากรางวัลดังกล่าวมาจากผลงานและการโหวตของโค้ช เป็นสิ่งที่นักกอล์ฟระดับโลกหลายคนเคยผ่านจุดนี้มาแล้ว ก่อนที่จะไปสร้างความยิ่งใหญ่ในระดับโลก เช่น Jim Furyk , David Duval Grace Park , Cristie Kerr ,Charles Howell , Paula Creamer และสำหรับนักกอล์ฟไทยที่เคยติดในทีมก็มี อารีและนารีซอง เจนนี่ ฉั่วศิริพร แต่สิ่งที่สำคัญเธอทำได้ 3 ปี่ ซึ่งมากเท่ากับที่ไทเกอร์ และฟิล มิคเคลสันเคยทำได้ และนี่คือเป้าหมายแรกที่ผ่านมันไปได้ด้วยความเด็ดเดี่ยวของสาวน้อยวัยยังไม่ครบ 20 ปี ที่ต้องตระเวนแข่งขัน โดยปราศจากกองเชียร์จากครอบครัวเหมือนเด็กนักกอล์ฟคนอื่น

 

ปีศาจสีน้ำเงิน

 

                อุ๋ยแนะนำน้องๆ ในรายการฮอนด้า กอล์ฟคลินิก ว่าหากต้องการได้รับทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยนอกจากเราจะต้องมีฝีมือและการเรียนที่ดีแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องตระเวนแข่งขันให้มากๆ และต้องทำผลงานให้ได้ดี เพราะโค้ชตามมหาวิทยาลัยจะค้นหาข้อมูลการแข่งขันของเราในอินเทอร์เน็ต ถ้าเราเก่งแต่ไม่มีข้อมูลผลการแข่งขัน การพิจารณาจะลำบาก อุ๋ยบอกว่าจริง ๆ โค้ชในอเมริกาสนใจนักกอล์ฟเยาวชนฝั่งเอเชียพอสมควร

                จากการที่เธอได้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับการสร้างผลงานได้อย่างดีเยี่ยมและได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย  และที่สำคัญคือผลการเรียนที่ดีเยี่ยม ทำให้เธอเป็นที่หมายตาจากมหาวิทยาลัยดังๆ หลายแห่งในอเมริกาที่นำข้อเสนอดีๆ เพื่อให้เธอมาเป็นนักเรียนและนักกีฬาของทางมหาวิทยาลัย  

 

        Duke University เป็นที่ๆ เธอและคุณพ่ออภิชาติตัดสินใจเลือก เพราะดูแล้วเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทั้งด้านการเรียนและกีฬา และที่นี่จะทำให้เธอมีโอกาสเรียนควบคู่ไปกับการเล่นกอล์ฟได้มากที่สุด ที่นี่เองเธอได้พบกับ Dan Brooks โค้ชสวิงที่มีประสบการณ์และให้คำแนะนำที่ดีกับเธอตลอด ปัจจุบัน Dan Brooks ยังคงเป็นโค้ชสวิงให้กับเธออยู่  Duke เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ติดอันดับต้นๆ ทั้งทางด้านกีฬาและการศึกษา และมีค่าใช้จ่ายในการเรียนที่แพงมาก คนที่เข้าเรียนที่นี่ได้จะต้องเรียนดีและมีสตางค์มากพอสมควร ในสมัยนั้นค่าเล่าเรียนต่อปีตกอยู่ราวๆ 1 ล้านกว่าบาทต่อปี  แต่โชคดีที่อุ๋ยเป็นคนประเภทเรียนดีกีฬาเด่น ทำให้เธอได้รับทุนการศึกษาแบบ Full Scholar Ship ตามที่เธอเคยตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งสร้างความยินดีให้กับครอบครัวเธออย่างมาก 

 

 

      ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดุ๊กนั้น อุ๋ยต้องแบ่งเวลาให้กับการเรียนและการซ้อม ซึ่งเธอยังคงทำทั้ง 2 อย่างได้อย่างดี โดยเธอบอกว่าผลการเรียนของเธออยู่ในระดับปานกลางเกรดเฉลี่ยประมาณ 3.5  อาจดูสูงสำหรับบางคน แต่สำหรับอุ๋ยมองว่าถ้ามีเวลามากกว่านั้นเธอน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่เกรดเฉลี่ยระดับนี้ก็ถือว่าดีเยี่ยมมาก เมื่อมองดูว่าเธอต้องรับผิดชอบกับการซ้อมกอล์ฟ ซึ่งเธอเป็นนักกีฬาของดุ๊กและเป็นหัวหน้าทีมในทางปฎิบัติ

      ในรายการการแข่งขันกอล์ฟของทางมหาวิทยาลัยในอเมริกาจะอยู่ภายใต้การดูแลของ NCAA (National Collegiate Athletics Association) โดยในทัวร์นาเมนท์การแข่งขันทั้งปีจะมีอยู่กว่า 200 รายการ มีทีมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วม 200 แห่งทั่วอเมริกา รวมแล้วมีนักกีฬากอล์ฟระดับมหาวิทยาลัยจากทั่วอเมริกา 2,000-3,000 คนที่ต้องมาขับเคี่ยวกัน ในแต่ละแห่งจะจัดรายการของตัวเองขึ้นมา อย่างน้อยหนึ่งทัวร์นาเมนท์  โดยการเชิญมหาวิทยาลัยที่มีระดับฝีมือและผลงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมาร่วมแข่งขัน ดุ๊กจัดว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมือวางอันดับต้น ๆ ของกีฬากอล์ฟ ดังนั้นการแข่งขันในแต่ละครั้งจึงต้องเจอกับทีมที่มีความแข็งแกร่งอันดับต้น ๆ ของอเมริกาทุกทัวร์นาเมนท์  ซึ่งในการแข่งขันแต่ละครั้งจะมีรางวัลชนะเลิศทั้งประเภททีมและบุคคล ซึ่งอุ๋ยและเพื่อน ๆในทีมดุ๊กคว้าแชมป์ได้ 21 ครั้ง เป็นที่สอง อีก 3 ครั้ง และชนะเลิศส่วนตัว อีก 5 ครั้ง ท็อปเทนอีกร่วม 10 ครั้ง

     แต่การชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นคือการชนะเลิศตอนปลายปี รายการ NCAA National Championshipซึ่งเป็นการชิงชัยของสุดยอดทีมมหาวิทยาลัยและนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยทั่วอเมริกา โดยผู้ที่สามารถเข้าร่วมรายการนี้ได้ จะต้องมีผลงานที่ดีสม่ำเสมอต้องผ่านด่านหินจากการแข่งขันระดับย่อย ๆ ไล่มาจนถึงระดับเขต Regional จนมาชิงชัยกันระดับประเทศ  อุ๋ยสามารถนำทีมคว้าแชมป์และชนะเลิศบุคคลใน NCAA National Championship ได้ในปี 2002 พร้อมได้รับรางวัล Blue Devils of the years

 

จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก และในการเล่นระดับมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ปีนั้น เธอได้รับโหวตจากนักกอล์ฟทั่วอเมริกากว่า 2 พันคนโดยโค้ชทั่วอเมริกาให้อยู่ใน All American First-Team ทั้ง 4 ปี คือปี 2544-2547 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นเกียรติ์ยศที่สูงสุดในระดับมหาวิทยาลัย

 

ตามรอยพญาเสือ

      คงมิใช่สิ่งที่เธอตั้งใจมาก่อน แต่มันเป็นสัญาณที่ดีในการที่จะเป็นนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต การชนะรายการใหญ่ที่สุดตอนปลายปี 2002 นี้ เป็นสิ่งที่ช่วยตอกย้ำว่าอุ๋ยได้เดินมาตามเส้นทางของนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ในอดีต เช่น Annika Sorenstam Grace Park Jack Nicklaus ต่างก็เคยได้แชมป์รายการนี้มาแล้ว และที่สำคัญตอนนี้เธอมีประวัติเป็น First-Team All American 3 ปีซ้อนในระดับเยาวชน และมาชนะรายการใหญ่ NCAA National Championalship ซึ่งเทียบเท่ากับที่ไทเกอร์ และมิคเคลสันเคยทำได้ในอดีต ในตอนนั้นเธอสามารถที่จะเทิร์นโปรได้เลย แต่อุ๋ยอยากได้แชมป์ระดับเมเจอร์อีกรายการที่ทั้ง Jack Nicklaus และ Tiger Woods เคยทำได้มาก่อน นั้นคือการชนะ US Amateur และถ้าเธอชนะในรายการ US Women s  Amateur ได้ เธอจะมีสถิติการเล่นกอล์ฟตั้งแต่ระดับเยาวชน มหาวิทยาลัย และสมัครเล่นได้โดดเด่นและยิ่งใหญ่เหมือนกับที่ไทเกอร์ วูดส์ทำได้ก่อนเทิร์นโปร

      ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2546 อุ๋ยเข้าแข่งขันรายการ US Womenžs Amateur Public Links Championship ด้วยการทำคะแนนวันแรกมาเป็นอันดับ 1 ก่อนที่จะเล่นระบบ Match Play ซึ่งเธอได้เล่นวันสุดท้ายกับ Michelle Wie ซึ่งเป็นการเล่น Match Play 36 หลุม อุ๋ยกล่าวไว้ว่ารายการนี้ถือเป็นรายการที่ประทับใจรายการหนึ่งถึงแม้ว่าจะแพ้ แต่เป็นการเล่นที่ขับเคี่ยวกันได้อย่างสนุกสนาน คนดูก็สนุกด้วย เพราะการแพ้ชนะในแต่ละหลุมนั้นต้องได้เบอร์ดี้ถึงจะชนะ เธอเล่าติดตลกว่ารายการนั้นเธอทีออฟพาร์ 5 ด้วยหัวไม้ 1 ต่อด้วยแฟร์เวย์ 7 และขึ้นเวดจ์อีกที ส่วนวีขึ้นช็อต 2 ด้วยเหล็ก 5 ไปรอก่อน สุดท้ายวีก็ทำ 2 พัตต์และเธอทำพัตต์เดียวยันได้ด้วยบอร์ดี้ได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งสร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับวีในช่วง 18 หลุมแรก ก่อนที่อุ๋ยจะมาพัตต์เซพพาร์สั้น ๆ พลาด จนแพ้ไป 1 หลุมอย่างเฉียดฉิวที่สุด

      ต่อมาเธอได้มาแข่งขันรายการเมเจอร์ที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในอเมริกา U.S. Womenž's  Amateur ซึ่งรายการดังกล่าวมีทั้ง Michelle Wie คู่ปรับเดิม กับ Paula Creamer และอารี ซอง  รายการดังกล่าวเป็นรายการที่นักกอล์ฟต้องมีความทรหดต้องเล่น 9 รอบ (รอบละ 36 หลุม) ในจำนวน 6 วัน ซึ่งผู้ชนะได้ถือว่ามีความยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วในระดับเมเจอร์ เพราะต้องเล่นกอล์ฟต่อสู้กับแรงกดดัน และต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่แข่งแกร่งถึงจะมีสิทธิ์ชนะได้

      อุ๋ยสร้างความยิ่งใหญ่ในระดับเมเจอร์ของนักกอล์ฟสมัครเล่นด้วยการชนะเจน ปาร์คนักกอล์ฟเกาหลีไป 2 ต่อ 1 และสามารถทำตามเป้าหมายของตัวเองได้อีกครั้ง ถึงตอนนี้เธอไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์แล้วในระดับอเมเจอร์ เกียรติประวัติมากมายของเธอมีความสมบูรณ์แบบที่สุด เทียบได้กับนักกอล์ฟชายระดับโลกอย่างไทเกอร์ วูดส์ไล่เรียงมาตั้งแต่ตอนเล่นเยาวชนจนมาปิดท้ายด้วยแชมป์เมเจอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกา 

     

 

 

       

           You can do anything that you put your mind to it .     

     เป็นคำกล่าวสั้นๆ ของอุ๋ยในวีซีดีที่ทางฮอนด้าแจกให้ในงาน ฮอนด้า วิรดา กอล์ฟคลินิก เธอขยายความเอาไว้ว่า

       ที่อุ๋ยชนะได้เพราะว่าเริ่มต้นมีจุดหมายที่แน่วแน่ ตั้งแต่วันที่ขับรถขึ้นไปที่ฟิลาดิเฟีย รู้เลยว่าเราไปเพื่ออะไร การที่เราอยากจะทำอะไร ถ้าเรามีเป้าหมายที่แน่นอน และตั้งใจจริง เราก็จะไปถึงได้Ž

      อุ๋ยได้รับการตอกย้ำความเป็นสุดยอดของนักกีฬาหญิงสมัครเล่นด้วยการได้รับรางวัล The Nancy Lopez Award ในปี 2547 เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักกอล์ฟสมัครเล่นหญิงที่ดี่ที่สุดในแต่ละปี โดยพิจารณาจากการแข่งขันในรอบปีที่ผ่านมา โดยวัตถุประสงค์ของรางวัลนี้ก็เพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้จักนักกอล์ฟสมัครเล่นหญิงที่โดดเด่นในแต่ละปี

 

เส้นทางสู่ LPGA

                เส้นทางการเดินไปสู่เป้าหมายที่เธอตั้งไว้ตั้งแต่ยังเด็กนั้น จนถึงตอนนี้ก็เหลือเพียงขั้นตอนเท่านั้น เธอเทิร์นโปรในปี 2547 เลือกเส้นทางสู่ LPGA โดยการเล่นใน  FUTURES Tour ซึ่งเป็นทัวร์อันดับ 2 รองจาก LPGA  ( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Symtra Tour) โดยผู้ที่ทำเงินได้ 5 อันดับแรกจะได้รับสิทธ์เข้าแข่งใน LPGA 1 ปี ในปีแรกที่เล่นใน FUTURES Tour นั้น ผลงานยังไม่ดีนัก เธอเข้าแข่งขัน 12 รายการ ตกรอบเพียงแค่รายการเดียว  และทำได้ดีที่สุดคืออันดับ 2 และท็อปเทนอีก 2 รายการ แต่นั่นอาจเป็นเพราะว่าเธอมีความรับผิดชอบอีกด้านหนึ่งในฐานะลูกที่มีความกตัญญู ต่ออาการป่วยของคุณพ่ออภิชาติ  จนสุดท้ายคุณพ่อเธอก็เสียชีวิตในเดือนเมษายน 2548 หลังจากที่เธอต้องโศกเศร้ากับการจากไปของคุณพ่อ จากความโศกเศร้าเสียใจแปรเปลี่ยนมาเป็นความมุ่งมั่นที่จะทำตามความฝันของเธอและพ่อซึ่งได้เคยฝันร่วมกันไว้ อุ๋ยกลับมาสร้างความประหลาดใจด้วยการคว้าแชมป์แรกในอาชีพเธอในเดือนเดียวกันนี้ โดยชนะรายการ Jalapeno FUTURES Golf Classic ด้วยการตีอันเดอร์ทั้ง 3 วัน หลังจากนั้นเธอก็มาชนะรายการ CIGNA Chip in For A Cure Connecticut FUTURES Golf Classic ในเดือนกรกฎาคม 2548

 

                ในปี 2548 การเล่นใน FUTURES Tour ผลงานของเธอโดดเด่นมาก แม้ว่าเธอจะจบฤดูกาลโดยทำเงินรางวัลได้เป็นอันดับ 2 โดยแข่งน้อยกว่าผู้ที่ได้อันดับ 1 สามรายการ แต่นั่นเป็นเพราะเธอเลือกที่จะไม่ลงแข่งทุกรายการตามแผนที่เธอได้วางเอาไว้ ว่าเธอจะแข่ง 3 แมทช์ พัก 1 แมทช์ เพื่อไม่ให้เหนื่อยเกินไป การเล่นแต่ละครั้งอยากให้รู้สึกสดชื่นและมีความน่าตื่นเต้นทุกครั้งที่ลงแข่ง เรื่องนี้เธอกล่าวเอาไว้ว่ามันเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เธอรู้ว่าตัวเองมีความต้องการแค่ไหน ร่างกายเราพร้อมแค่ไหน เราต้องไปกับการวางแผนของตัวเอง จะไปทำตามคนอื่นไม่ได้ การวางแผนของคนอื่นมันอาจจะไม่เหมาะกับตัวเรา เราต้องอยู่ในแผนของตัวเอง จากแผนการแข่งขันที่เธอวางไว้ทำให้ผลการแข่งขันทั้งหมด 15 รายการ เธอไม่ตกรอบเลย และได้แชมป์ 2 รายการ รองแชมป์ 2 รายการ และท็อปเทนอีก 6 รายการ พร้อมทำสถิติต่าง ๆ อีกหลายอย่าง ตั้งแต่การเป็นนักกอล์ฟที่ทำเบอร์ดี้ต่อรอบดีที่สุดเฉลี่ย 3.77 ต่อรอบ ทำสโตรคเฉลี่ยต่ำที่สุด และสกอร์เฉลี่ยต่ำสุดในหลุมพาร์ 4 และพาร์ 5 เธอขยายความว่าเธอมีระยะไดร์ฟที่ไม่ไกลนัก แต่เธอก็ทำสกอร์เฉลี่ยในพาร์ 5 ได้ดีที่สุด จึงอยากให้นักกอล์ฟคนอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับการซ้อมลูกสั้น และจากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าการทำสกอร์ได้ในหลุมพาร์ 5 ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไดร์ฟไกล

 

เบื้องหลังความสำเร็จของอุ๋ยเทคนิคการซ้อมที่มีเป้าหมาย

 

มองหาจุดอ่อนเพื่อพัฒนาไปสู่อีกขั้น

      ในการแข่งขันทุกครั้งอุ๋ยจะจดสถิติการตีช็อตต่าง ๆ ในวันนั้นบันทึกลงในสมุดให้หมด เช่นวันนี้ตีกี่แฟร์เวย์ กี่กรีน กี่พัตต์ ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบว่าความผิดพลาดของวันนั้น ๆ และจุดอ่อนของเกมวันนั้นคืออะไร เพื่อนำกลับมาซ้อมแก้ไขข้อบกพร่องในจุดนั้นให้ได้ และในการออกรอบซ้อมแต่ละครั้งจะมีกำหนดเป้าหมายว่าจะตีอย่างไร ตีกี่แฟร์เวย์ กี่กรีน โดยเรื่องนี้อุ๋ยบอกว่าเป็นหลักจิตวิทยาอีกเรื่องหนึ่ง คือการกำหนดเป้าหมายจะช่วยทำให้เราพัฒนาไปทีละขั้น พอเราพัฒนาถึงจุดนั้นแล้ว เราก็ขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นไปอีก สุดท้ายเมื่อเราทำได้ตามเป้าไปเรื่อย ๆ แล้วมันจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ  

      ต้องคิดเสมอว่าวันนี้ทำไม่ได้ วันข้างหน้าก็ต้องได้ หลังแข่งจบวันนี้เราก็ต้องมาดูว่าที่ผ่านมาเราไม่ประสบความสำเร็จเพราะอะไร ควรจะต้องปรับปรุงอะไร และระหว่างวันนี้กับวันข้างหน้าเราต้องปรับปรุง ขยันซ้อม และมีเป้าหมายในการซ้อม

 

เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง

      อุ๋ยให้สัมภาษณ์ว่าการซ้อมของอุ๋ยทุกครั้งจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการซ้อม โดยในช่วงวัยเด็กจนถึงปัจจุบัน อุ๋ยจะแบ่งหน้าของสมุดจดบันทึกออกเป็น  2 ด้าน คือด้านซ้ายจะเป็นช็อตที่เป็นจุดแข็ง ส่วนด้านขวาจะเป็นจุดอ่อน อุ๋ยจะเขียนรายละเอียดไว้ว่ามีช็อตอะไรบ้าง เพื่อจะได้รับรู้จุดอ่อนจุดแข็งว่ามีอะไรบ้าง เวลาอุ๋ยไปซ้อม ก็จะไปซ้อมในจุดอ่อนให้พัฒนาขึ้น และพยายามย้ายจุดอ่อนที่อยู่ด้านขวาให้ไปอยู่ในด้านซ้ายซึ่งเป็นจุดแข็ง  พ่อเคยบอกไว้ว่า กรุงโรมมิได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าลูกที่ยาก ๆ เราจะทำไม่ได้ เช่นการเล่นลูกโยนโด่งให้ตกหยุด ตอนแรกเราอาจจะยังไม่เคยเล่นมาก่อน ในตอนแรกที่เราเริ่มต้นซ้อมช๊อตนี้ ไม่ต้องไปตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถเล่นได้เลยในวันนั้น เพียงแต่เราตั้งเป้าหมายไว้เล็กน้อยว่าควรจะทำได้ขนาดไหน

พอเราทำได้ตามที่ต้องการ เราก็ขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นทีละขั้น พอวันต่อมาเราก็ขยับขึ้นไปอีกขั้น  

 

ตีลูกในสนามไดร์ฟให้มีคุณภาพ

                อุ๋ยแนะนำการซ้อมในสนามไดร์ฟว่าควรจะตีทุกช็อตให้มีเป้าหมาย อุ๋ยบอกว่าบางครั้งการที่นักกอล์ฟซื้อลูกมาหลาย ๆ ถาด กองไว้ตรงหน้า บางทีอาจทำให้เราลืมไปว่าเป้าหมายในการซ้อมวันนี้ของเราคืออะไร อาจจะเผลอรู้สึกว่าเรามาเพื่อตีลูกตรงหน้าเราให้หมด ๆ ไป อุ๋ยแนะนำว่าอาจจะหยิบลูกมากองสัก 5 ลูก แล้วกำหนดเป้าหมายไปว่าเราจะตี 5 ลูกนี้ไปที่ไหน  แล้วลองดูสิว่าเราจะตีเข้าเป้าสักกี่เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะซ้อมโดยการตีไปทิศทางอื่นบ้างนอกจากตีไปตามทิศทางของพรมซ้อมกอล์ฟ

 

การซ้อมต้องหลากหลาย

      การซ้อมในแต่ละวันของอุ๋ย จะถูกวางแผนเอาไว้ว่าในแต่ละวันจะซ้อมลูกอะไรบ้าง ซึ่งอุ๋ยจะพยายามซ้อมให้หลากหลายจะได้ไม่เบื่อ  และประการที่สำคัญอุ๋ยจะแนะนำนักกอล์ฟสมัครเล่นว่า อย่าซ้อมไดร์ฟเพียงอย่างเดียว ต้องแบ่งเวลาให้กับการซ้อมชิพและซ้อมพัตต์ด้วย นอกเหนือจากนั้นอุ๋ยจะแบ่งเวลาให้กับการออกกำลังกายโดยการวิ่ง 5 กิโลเมตร อาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง และการฟิตกล้ามเนื้อภายใต้การดูแลของโค้ชฟิตเนส

 

เมื่ออยู่ในสนามแข่งขัน

                เวลาอยู่ในการแข่งขันนั้น นักกอล์ฟจะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งการฝึกฝนให้มีสภาพจิตใจที่แข่งแกร่งขึ้น นักกอล์ฟจะต้องลงแข่งขันให้มาก ๆ ในทัวร์นาเมนท์ที่สูงขึ้น การเล่นจะใช้มันสมองมากกว่าเรื่องของสวิง ส่วนเรื่องการทำสมาธิในการเล่นนั้น

อุ๋ยแนะนำสั้น ๆ ว่า เราต้องอยู่กับปัจจุบัน เล่นเป็นหลุม ๆ เป็นช็อต ๆ ไป

อุ๋ยขยายความให้ฟังว่า การเล่นนั้น ขอให้การเล่นทุกช็อตต้องมี Routine ที่สม่ำเสมอ เช่น พอเดินเข้ามาถึงลูกกอล์ฟ ดูลมเป็นอย่างไร ระยะเท่าไหร่ ไลเป็นอย่างไร แล้ววางแผนว่าเราจะตีระยะเท่าไหร่ ไปทิศทางไหน  เลือกใช้ไม้อะไรตี  เสร็จแล้วเราก็เดินเข้าไปตีตามที่วางแผนเอาไว้ 

 

ข้อที่สำคัญที่สุด อุ๋ยบอกว่า

เมื่อเราตัดสินใจแล้ว ตอนเข้าไปจรดลูกห้ามคิดอะไรทั้งนั้น เราต้องตีไปตามแผนที่วางไว้ ถ้าลังเล ต้องถอยมาทำ Routine ใหม่ อย่าคิดอะไรระหว่างกำลังเตรียมจะตี อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเมื่ออยู่ในสนามแข่งขัน การรับประทานอาหารเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม  การที่ร่างกายขาดอาหารหรือน้ำจะทำให้สมองล้า บางทีอาจทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาเองโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งการเล่นที่มีความกดดันสูง ๆ เราจะต้องใช้สมองในการตัดสินใจมาก ฉะนั้นการทานขนมหรือของว่างเช่นกล้วยจะช่วยทำให้เราสดชื่นอยู่เสมอ ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับที่ตำราทางด้านโภชนาการเกี่ยวกับการรับประทานอาหารกับการเรียน ในหนังสือเขียนว่าการที่เราไม่รับประทานอาหารเช้านั้น จะทำให้การเรียนในช่วงเช้า เราจะซึมซับเอาวิชาความรู้เข้าไปในหัวได้ไม่ดีนัก และจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่าย โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องเข้าห้องสอบ จำเป็นที่เราจะต้องรับประทานอาหารและน้ำให้เพียงพอจะทำให้เวลาทำข้อสอบสมองแล่นคิดอะไรได้เร็ว เช่นกันกับการเล่นกอล์ฟ ซึ่งในช็อตที่สำคัญและกดดันเราจำเป็นต้องใช้สมองคิดวางแผน การที่เติมน้ำและอาหารเข้าสูร่างกายในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยทำให้สมองเราพร้อมที่จะเผชิญกับเกมการเล่นที่กดดันตลอดเวลา

 

เตรียมพร้อมสู่ LPGA

      การวางแผนในการเล่น LPGA ในปี 2006 อุ๋ยจะแข่งขันทั้งหมด 25-30 รายการ โดยแบ่งออกเป็นรายการที่อุ๋ยได้สิทธิ์แข่งขันใน LPGA 20-22 รายการ ที่เหลืออุ๋ยต้องไปเล่นรอบคัดเลือกเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการแข่งรายการเมเจอร์ ยกเว้นรายการ Mcdonaldžs LPGA Championship ซึ่งเป็นรายการจัดโดย LPGA อุ๋ยสามารถแข่งได้เลย อุ๋ยจะเริ่มเล่นรายการแรกคือ SBS OPEN ที่ฮาวายระหว่างวันที่  การเตรียมความพร้อมในการแข่งขันนั้นอุ๋ยมีทีมงานดูแลหลายฝ่าย ตอนนี้อุ๋ยมีโค้ชอยู่ 3 คน โค้ชทางด้านสวิง Dan Brooks ที่ดูแลอุ๋ยมาตั้งแต่ตอนอยู่ที่ดุ๊ก โค้ชทางด้านจิตวิทยา และโค้ชด้านฟิตเนส  แคดดี้ Chris McCalmont ที่รู้ใจ นอกเหนือจากนั้นยังมีทีมผู้จัดการจากคุณ Jimmy จาก IMG ซึ่งดูแลอุ๋ยเป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดคุณแม่และพี่ชายที่เป็นฝ่ายสนับสนุนในทุก ๆ ด้านที่ดีเยี่ยม และสิ่งที่สำคัญที่สุดสปอนเซอร์ต่าง ๆ เช่น แบงค์กรุงศรีอยุธยา ฮอนด้า สนามกอล์ฟอมตะสปริงที่เล็งเห็นถึงฝีมือและช่วยสนับสนุนด้านการเงิน ทำให้อุ๋ยสามารถจ้างทีมงานซึ่งเป็นโค้ชด้านต่าง ๆ ในการแข่งขันในปี 2006 อุ๋ยมีเป้าหมายที่จะทำอันดับให้อยู่ในท็อป 50

      แน่นอนว่าการแข่งขันใน LPGA ในปีหน้าอุ๋ยจะต้องพบกับความยาวและความยากของสนามที่มากขึ้นกว่าการเล่นใน FUTURES TOUR และการแข่งขันใน LPGA จะมีความกดดันมากกว่า อีกทั้งนักกอล์ฟที่สามารถเข้ามาเล่นใน LPGA ได้นั้นต่างเคยผ่านสังเวียนการเป็นท็อปเทนใน FUTURES TOUR ที่อุ๋ยเคยเล่นมาแล้วทั้งนั้น  ฉะนั้นการเล่นในปี 2006 อุ๋ยจะต้องพบกับความท้าทายใหม่ที่ยากขึ้นกว่าเดิม

      ผมในฐานะที่เฝ้าติดตามนักกอล์ฟสาวสายเลือดไทยคนนี้มาตลอด เชื่อได้ด้วยความสามารถของเธอ และการเป็นคนที่ทำอะไรอย่างจริงจัง และมีเป้าหมายที่ชัดเจน จะสามารถทำให้เธอก้าวไปสู่เป้าหมายที่เธอตั้งความหวังไว้อย่างสง่างามต่อไป ชาวกอล์ฟเฟอร์ ออนไลน์ ในฐานะคนไทยขอส่งแรงเชียร์ให้อุ๋ยประสบความสำเร็จในการเล่น LPGA ปี 2006 นี้ เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่สมัยที่เป็นสุดยอดนักกอล์ฟเยาวชนจนถึงสุดยอดนักกอล์ฟเมเจอร์ และผมเชื่อว่าผมจะได้มีโอกาสสัมภาษณ์เธออีกครั้งเมื่อวันที่เธอเป็นสุดยอดนักกอล์ฟอาชีพหญิงของโลก

 

1 แชร์ 1 ไลค์ ของท่าน อาจดูน้อยนิด แต่มันช่วยเติมไฟให้เรามีแรงทำงานสร้างสรรค์งานมีประโยชน์ต่อไปไม่สิ้นสุด

เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

Chalermwong B.Kajorn

ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.

13 / 7 /2559

https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/

Official Line : @golferonline

Tags : Hall of Frame , legend , Biography , History , ประวัติ 




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8