ตีไกล ใช้แรงคุ้ม

12 Jul 2016
  • Shares:

สวิงคลาสสิคสุดของโปรคิง สมศักดิ์ศรี ส.ศรีสุวรรณ ถ่ายเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2550

 ก่อนอื่นออกตัวไว้ก่อนว่า อยากให้อ่านเรื่องนี้จนจบครับ แบ่งอ่านเป็น 2 วันก็ได้ครับ

     เรื่องต่อไปนี้ผมเขียนไว้ในนิตยสารกอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ตั้งแต่มกราคม 2549 ตอนนั้นใช้ชื่อเรื่องว่า " ตีไกล ใช้แรงน้อย" ซึ่งมีคนเคยแย้งผมมาว่า ไม่มีหรอกใช้แรงน้อย ผมมานั่งทบทวนอีกที เออ จริงของพี่เค้า ไม่น่าจะมีนะ เลยเปลี่ยนเป็น ชื่อ ตีไกล ใช้แรงคุ้ม น่าจะสะท้อนสิ่งที่จะนำเสนอมากกว่า

     ยุคนั้นเป็นยุคที่ผมเขียนงานทีไร 2 หน้า A4 เป็นอย่างน้อย ยุคที่ถ้าเริ่มเขียน ก็ลากยาว ด้วยข้อมูลต่างๆ นานา ที่ผมขยันค้นคว้านำมาใช้อ้างอิงในบทความ ระยะหลังๆ ผมลดการเขียนให้น้อยลง เพื่อให้เหมาะกับยุคดิจิตอลที่หลายคนต้องการบทความสำเร็จรูป ประเภทที่ว่า บอกมาเลย อะไรดี อะไร ไม่ดี ซึ่งบอกตามตรง ผมไม่ถนัดงานเขียนแบบนั้นครับ

   รูปสวิงทรงประสิทธิภาพของโปรบุญชู เรืองกิจ ถ่ายเมื่อ 25 ธันวาคม 2549

 

การตีหัวไม้ 1 ให้ไกล แน่นอนละว่าคุณจะต้องมีพละกำลังที่แข็งแรงสามารถสร้างความเร็วหัวไม้ได้สูงๆ แต่ถ้าพละกำลังของคุณมีจำกัด คุณจะทำอย่างไรให้คุณตีหัวไม้ 1 ให้มีประสิทธิภาพ ให้ไกลที่สุด ออกแรงคุ้มค่าที่สุด

 

คำตอบของผมมีอยู่ 4 ข้อใหญ่ๆ ที่ผมคิดว่าสำคัญ

1.คุณต้องนำหัวไม้เข้าอิมแพ็คในตำแหน่ง จังหวะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

2.คุณต้องฟิตติ้งไดรเวอร์ที่ให้วิถีลูกแมทช์กับตัวคุณที่สุด

3.การตีให้เข้า Sweet Zone 

4.คุณต้องใช้ลูกกอล์ฟที่เหมาะกับสไตล์คุณ

            วันนี้ผมขอกล่าวถึง 3 เรื่องแรกก่อน เรื่องที่ 4 ขอแยกเขียนเป็นตอนพิเศษในโอกาสต่อไป หรือคุณสามารถเข้าไปดูข้อมูลในนี้กันก่อนได้ครับ

การฟิตติ้งลูกกอล์ฟ 

 

1.คุณต้องนำหัวไม้เข้าอิมแพ็คในตำแหน่ง จังหวะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

     การที่คุณจะนำหัวไม้เข้ามาอิมแพคในตำแหน่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้น คุณจะต้องคำนึงถึงจังหวะให้มากๆ  อย่าคำนึงเพียงแค่การสร้างความเร็วสูงๆ เท่านั้น จังหวะการตีที่ดีนั้น ก้านจะดีดตัวเข้าไปกระทบลูกอย่างมีพลัง

     เรื่องนี้อยากให้คุณทดลองเอาไม้บรรทัดเหล็กสักอันมาวางนอนราบที่โต๊ะ  ลองจับปลายไม้บรรทัดด้านหนึ่งกดไว้ที่โต๊ะ แล้วลองง้างปลายไม้บรรทัดอีกด้านหนึ่งให้ลอยขึ้นจากพื้นโต๊ะสัก 1-2 นิ้ว หลังจากนั้นก็ปล่อยปลายที่ง้างขึ้น คุณจะสัมผัสได้ถึงเสียงและพลังของการดีดตัวของไม้บรรทัดปลายด้านที่ลอยขึ้น และถูกปล่อยให้ดีดมากระทบโต๊ะ เสียงของการกระทบ น่าจะดังพอๆ กับการที่คุณยกไม้บรรทัดลอยขึ้นมาสูงระดับหนึ่งก่อนที่จะตีลงไปบนโต๊ะ

    การทดลองนี้บอกอะไรเรา การกดปลายด้านหนึ่ง แล้วยกปลายด้านหนึ่งให้ลอยแล้วปล่อย ไม้บรรทัดเหล็กจะดีดตัวเสียงดัง โดยที่เราไม่ต้องออกแรงเลย ไม้บรรทัดมันวางแนบอยู่กับพื้นเฉยๆ ด้วยซ้ำ ไม้บรรทัดมันสามารถทำงานของมันเองได้ แต่ถ้าเราต้องการตีให้ไม้บรรทัดเหล็กเสียงดังเท่าการดีดของไม้บรรทัด  โดยที่ไม้บรรทัดไม่ดีดนั้น เราต้องเอามือยกขึ้นเพื่อตีให้ไม้บรรทัดมีเสียงดัง 

     สิ่งที่จะบอกจากการทดลองนี้ในการตีกอล์ฟคือ ถ้าเราหาจังหวะการตีให้ก้านมันดีดตัวพอดิบพอดีตอนเข้าอิมแพค การดีดตัวของก้าน จะช่วยเพิ่มพลังในการตีให้กับเรา เสริมกับพลังสวิงที่เกิดจากแรงของเราเอง

 

เรื่องการดีดตัวของก้าน ผมเคยอ่านงานวิจัยของ  http://tkgolfresearch.com/ ซึ่งยุคหนึ่งของ 10 ปีที่แล้ว มีการเผยแพร่การทดสอบก้านด้วยหุ่นยนต์  โดยการตั้งค่าให้หุ่นยนต์สวิงให้ได้ความเร็วหัวไม้ 90 MPH แล้วเอาก้าน หลายแบรนด์ทำความยาวเท่ากัน แต่มีหลากหลายความแข็งมาทดสอบ น่าเสียดายที่ลิ้งค์ของผลการทดสอบนั้นลบข้อมูลนี้ออกไปแล้ว

            แต่เท่าที่ผมจำได้มีบทสรุปของการทดสอบนั้นคือ

            ก้านที่มีสเปคความแข็งพอดีหรืออ่อนกว่าความเร็วสวิงของหุ่นยนต์ ซึ่งตั้งไว้คงที่ที่ 90 MPH ก้าน Flex R จะวัดค่าความเร็วหัวไม้จริงได้เพิ่มขึ้น ราว 2-4 MPH

          ก้านที่มีสเปคความแข็ง แข็งกว่าความเร็วสวิงของหุ่นยนต์ทดสอบ ซึ่งตั้งไว้คงที่ที่ 90 MPH ก้าน Flex S, หรือ X จะวัดค่าความเร็วหัวไม้จริงลดลง  1-3 MPH

*** ผมจำได้ว่าก้านที่ทางแลบเยอรมันนำมาทดสอบ ส่วนใหญ่เป็นก้านสายแข็ง อเมริกัน ผมเชื่อลึกๆ ว่า ก้านสายพันธุ์ญี่ปุ่น ถ้าเราใช้ความแข็งที่พอดี ความเร็วหัวไม้ที่เพิ่มขึ้นจะมากขึ้นกว่าผลการทดสอบนี้ครับ

          จากผลการทดสอบที่ผมอ้างอิง กลับมาที่เรื่องของสวิงบ้าง การที่เราจะทำให้ก้านดีดตัวเข้ากระทบลูกในจังหวะที่พอดิบพอดี เพื่อให้ก้านมันสามารถทำงานเต็มประสิทธิภาพของมัน นักกอล์ฟจะต้องใจเย็น และมีทักษะในการสวิงให้สามารถคลายข้อมือในจังหวะที่ใกล้เคียงกับจังหวะในการอิมแพ็คลูกมากที่สุด จะทำให้ก้านช่วยดีดตัวเข้ากระทบลูกอย่างมีพลัง และสามารถสร้างโบนัสความเร็วหัวไม้เพิ่มเติมขึ้น จากความเร็วที่เกิดจากเราออกแรงในการสวิงเอง

 

            ซึ่งการสวิงที่ก้านดีดตัวใกล้ๆ จังหวะอิมแพ็คนั้น เราสามารถสังเกตได้จากโปรระดับโลกหลายๆ คน ที่ก่อนตำแหน่งอิมแพ็ค หรือแม้กระทั่งที่ตำแหน่งอิมแพ็ค มือของโปรเหล่านี้จะอยู่ด้านหน้าหัวไม้แทบทั้งนั้น ซึ่งการตีลักษณะนี้ มีโอกาสทำให้ก้านดีดตัว เพิ่มความเร็วหัวไม้ให้เป็นโบนัสที่เพิ่มขึ้นได้ครับ ไม่ต้องโปรระดับโลกก็ได้ครับ โปรซึ่งเป็นนักเขียนของกอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ ก็สามารถทำแบบนี้ได้ทุกคนครับ

รูปโมเดิร์นสวิงของโปรก็อต อภินัย วรรณไพโรจน์ ถ่ายเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2550

 

            เมื่อใดก็ตามที่คุณปล่อยให้หัวไม้แซงมือไป ก้านมันจะถูกดีดออกไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่คุณจะเอาหัวไม้เข้าอิมแพ็ค ซึ่งเหตุการณ์นี้ คุณจะไม่ได้โบนัสความเร็วเพิ่มเติมจากการดีดตัวของก้าน คุณกำลังใช้แรงล้วนๆ ของคุณเองในการสร้างความเร็วหัวไม้           (จริงๆ มันมีเรื่องความเร่งช่วงระยะสั้นๆ ในการคลายข้อมือที่ทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นราว 10 MPH  เสริมกับการดีดตัวของก้านด้วย แต่ขอผ่านยังไม่อธิบาย เพราะต้องเอาฟิสิกส์เข้ามาอธิบายด้วย เดี๋ยวลึกไป ไว้มีโอกาสค่อยเขียนคุยกันใหม่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ผมมีโอกาสทดสอบกับโปรทัวร์ 8 ปีหลังจากวันนั้น ว่าความเร็วมันหายไปราว 10 MPH จริงๆ )

 

 ความเร็วหัวไม้  = แรงสวิงของเราเอง + เทคนิคการสวิง + การดีดตัวของก้านที่เหมาะกับสวิงเรา 

 

*** ถ้าเราอยากสร้างความเร็วหัวไม้สูงสุด เราจะต้องทำให้ตัวแปรทั้ง 3 ส่วนนี้ สมบูรณ์ คือ 1.แรงเราเอง 2.เทคนิคสวิง 3.ก้านที่เหมาะสม  

 

คำถามคือ แล้วเราจะฝึกอย่างไรให้ทั้ง 3 ส่วนนี้เติมเต็ม

     คำตอบของผมคือ ถ้าคุณมีจังหวะนี้อยู่แล้ว ถือว่าโชคดี มีบุญ แต่ถ้าคุณไม่มี การฝึกจังหวะนี้ ต้องใช้ความอดทนล้วนๆ เลย ผมเคยเห็นโปรที่ซ้อมจัดมากๆ หลายคนที่ มีอาการคลายข้อมือเร็วๆ ซ้อมยังไงก็ไม่ค่อยจะหาย ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอยู่หายตัวเลยครับ ผมให้ลิ้งที่ไว้ ลองเข้าไปหาข้อมูลกันดู

Impact Bag 

 

Momentus Strength Trainers

 

Orange Whip

 

          แต่เรื่องนี้ผมเคยถามโปรช้าง ธงชัย ใจดี หลังเขียนบทความวันนั้นอีกร่วม 2 ปีว่า ฝึกยังไง? โปรช้างบอกว่า โปรไปยืนสวิงหลังต้นไม้เลย แล้วใช้หลักการซ้อมแบบ Impact Bag แต่แทนที่จะใช้ Impact Bag วาง ให้ต้นไม้มาแทน Impact Bag เลย หลังจากนั้นก็ซ้อมสวิงลงมาเต็มแรง ให้หัวไม้มาหยุดแถวๆ ต้นไม้ให้ได้ ถ้าหยุดไม่ได้ หัวไม้แซงเมื่อไหร่ หัวไม้จะไปกระแทกต้นไม้ จนไม้พัง ไม้หักไปเลย โปรช้างบอกประมาณว่า ต้องเล่นแบบนี้เลย อารมณ์ หักดิบ  ได้ก็ได้ ไม่ได้ ก้านก็หัก  

   

2.คุณต้องฟิตติ้งไดรเวอร์ที่ให้วิถีลูกแมทช์กับตัวคุณที่สุด

            High Launch , Low Spin ประโยคนี้ เริ่มเข้ามาฮิตมากๆ ในช่วงปี 2549 หรือก่อนหน้านั้นประมาณ 5 ปี ยุคที่ผมเข้ามาจับงานเขียนเรื่องอุปกรณ์กอล์ฟครับ และคำๆ นี้ ปัจจุบัน ได้นำมาใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับแบรนด์กอล์ฟทุกแบรนด์ครับ คำๆ นี้ ให้ผมเดา น่าจะเกิดมาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในโต๊ะทำงานของวิศวกรแต่ละบริษัท ซึ่งมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ต่างกัน และมีโจทย์เดียวกันในการสร้างไดรเวอร์ให้ตีไกล

            โจทย์ในการสร้างไดรเวอร์ตีไกล คือสร้างไดรเวอร์ให้ตีได้มุมสูง โดยที่สปินต่ำที่สุด จะทำให้ตีไดรเวอร์ให้ตกไกลที่สุด และวิ่งเยอะที่สุด

            ซึ่งคำว่ามุมสูงนั้น ต้องเป็นมุมที่เค้าเรียกว่า Optimum Launch  แต่ละคนจะมีมุมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเร็วหัวไม้ของนักกอล์ฟแต่ละคน อย่าเลียนแบบกัน ของใครของมันครับ

ผมจะลองป้อนข้อมูลเข้าไปในโปรแกรม FlightScope Trajectory Optimizer เพื่อทำให้ท่านนักกอล์ฟเข้าใจมากขึ้น โดยผมจะป้อนข้อมูลนักกอล์ฟที่ความเร็วหัวไม้ 90 MPH ซึ่งเป็นความเร็วหัวไม้ของนักกอล์ฟส่วนใหญ่ที่ชอบบ่นว่าตีสั้น ผมจะลองป้อนข้อมูลอื่นๆ ทุกอย่างให้เท่ากันหมด ยกเว้นมุมเหิน เริ่มต้นที่ 8 องศา ค่อยๆ เพิ่มทีละ 2 องศาไปเรื่อยๆ จนถึงองศา 16 ให้นักกอล์ฟลองสังเกตตัวเลขระยะทางรวม Total ที่เปลี่ยนแปลงไปครับ

*** Launch Speed ที่อยู่ในรูปคือ ความเร็วลูกกอล์ฟครับ มาจาก ความเร็วหัวไม้ X 1.5 (Smash Factor) 

            จากตรงนี้ผมอยากให้สังเกตว่า ทำไมผมไม่ใช้คำว่า High Launch อยากที่เค้าโปรโมทกัน ผมมักใช้คำว่า Optimum Launch มากกว่า ให้ผมเดา เหตุผลที่มีการโปรโมทคำว่า High Launch , Low Spin แทนที่จะใช้ว่า Optimum Launch  เพราะว่า สมัยนั้น นักกอล์ฟส่วนใหญ่ตีไดรเวอร์ วิถีต่ำเกินไป และตัวนักกอล์ฟเองก็เชื่อด้วยว่า วิถีต่ำคือวิถีที่ทำให้ตีไดรเวอร์ได้ระยะทางไกล เขาจึงต้องใช้ Keyword ว่า High Launch มาใช้ในการรณรงค์ครับ

            ผ่านไป 10 ปี ผมลองถามเพื่อนๆ ในวงการที่มีเครื่อง Launch Monitor ว่า สมัยนี้นักกอล์ฟยังมีปัญหาเดิมๆ ตีไดรเวอร์วิถีต่ำเกินไปหรือไม่ คำตอบที่ผมได้ น่าตกใจเล็กน้อยครับ เขาบอกว่า ยังเหมือนเดิมครับ นักกอล์ฟที่ตีไม่ไกล ยังตีไดรเวอร์ด้วยวิถีต่ำเกินไป และยังมีความเชื่อว่าวิถีต่ำๆ นี่แหละไกล

             จำได้ว่าตอนที่ผมเขียนเรื่องนี้เมื่อปี 2549 คือ 10 ปีที่แล้ว ผมไปหาข้อมูลเจอว่า พวกเทคโนโลยีไดรเวอร์สมัยใหม่ และเทคโนโลยี Launch Monitor ช่วยทำให้สามารถพัฒนาระยะการตีของโปรทัวร์ในอเมริกาให้ไกลขึ้นได้จริง ข้อมูลสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา คือ 2539-2549 โปรในทัวร์ไดรฟไกลขึ้นเฉลี่ย 30 หลา และผลการวิจัยในอเมริกายังวิจัยต่อไปว่า แล้วนักกอล์ฟสมัครเล่นละ เป็นอย่างไร ? พบว่า ระยะเฉลี่ยของนักกอล์ฟสมัครเล่น เพิ่มขึ้นเพียง 10 หลาเท่านั้น และดูเหมือนว่าระยะห่างของโปรในทัวร์กับนักกอล์ฟสมัครเล่นจะเริ่มห่างไกลกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

            แน่นอนว่าระยะไดรฟที่ได้มา เกิดจากวงสวิงที่มีประสิทธิภาพ แต่การฟิตติ้งหาไดรเวอร์ที่เหมาะสม ด้วยเครื่อง Launch Monitor ด้วย จะช่วยปรับแต่งไดรเวอร์เราให้เข้ากับสวิงเรา เสริมให้เราทำระยะได้ดีที่สุด

            ที่บอกว่า Optimum Launch ของแต่ละคนไม่เท่ากันนั้น แล้วแต่ละคนจะรู้ได้อย่างไร ตอนที่ผมนำเทคโนโลยี Vector Launch Monitor เข้ามาใช้ตอนปี 2549 ในโปรแกรมจะสามารถป้อนข้อมูลความเร็วหัวไม้ มุมเหิน และอัตราสปินลงไป เพื่อให้โปรแกรมคำนวณระยะไดรเวอร์ที่มีโอกาสทำได้ออกมา ตัวเลขที่ผมหามา มีดังนี้

          นักกอล์ฟความเร็วหัวไม้ 75-90 MPH Optimum Launch Angle 16-19 Spin Rate 2,800-3,200 RPM

          นักกอล์ฟความเร็วหัวไม้ 90-105 MPH Optimum Launch Angle 13-16 Spin Rate 2,500-3,000 RPM

          นักกอล์ฟความเร็วหัวไม้ 105 ขึ้นไป Optimum Launch Angle 10-13 องศา Spin Rate 2,000-2,500 RPM

           นับว่าเป็นโชคดีของนักกอล์ฟสมัยนี้มาก ที่ไม่ต้องลงทุนแบบผม คือซื้อ Launch Monitor เพื่อทำให้ผมเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อใช้โปรแกรมใน Launch Monitor เพื่อคำนวณระยะทางให้ครับ

 

สมัยนี้เราสามารถเข้าไปที่เวบ http://flightscope.com/products/trajectory-optimizer/

จะมีโปรแกรมให้ใช้กันฟรีๆ เลย ลองเข้าไปใช้กันดูได้

 

            ขอเสริมนิดหนึ่ง ในเวบนนี้ เขาจะไม่มีค่าความเร็วหัวไม้ให้ป้อน จะมีแต่ความเร็วลูกกอล์ฟ วิธีการหาความเร็วลูกกอล์ฟ ให้ใช้วิธีการ เอา 1.4-1.5 คูณความเร็วหัวไม้ของคุณเข้าไป จะได้เป็นความเร็วลูกกอล์ฟครับ น่าจะมีคนถามต่อว่า แล้วใช้เท่าไหร่ดี 1.4-1.5 ถ้าคุณเคยใช้พวก Launch Monitor ระบบเรดาห์บ่อยๆ ค่านี้คือ Smash Factor ครับ 

          Smash Factor X ความเร็วหัวไม้ = ความเร็วลูกกอล์ฟ

แต่ถ้าใครไม่รู้ค่า Smash Factor ตัวเอง ก็ใส่แบบประมาณๆ ไปก่อน ถ้าคิดว่าตัวเอง อิมแพ็คหนักแน่น ก็ใช้ Smash เลขเยอะ ถ้าคิดว่าอิมแพ็คไม่แน่น ฟังจากเสียงก็น่าจะเดาได้ ก็ใส่ Smash เลขน้อย

 

            ส่วนเรื่องของก้านไดรเวอร์ อย่างที่ผมบอกไว้ว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ทำการทดลองก้านในเวบ TKGOLFRESEARCH บอกว่า ก้านแข็งไป ความเร็วหัวไม้จะตกลง ดังนั้นการเลือกก้านของนักกอล์ฟ ผมแนะนำว่า ก็ควรเลือกก้านให้เหมาะสมกับความเร็วสวิงของเราด้วย อย่าเลือกก้านแบบเผื่อโต

 

            เลือกก้านดี ความเร็วหัวไม้เพิ่ม เลือกก้านผิด ความเร็วหัวไม้ตก

            นอกจากเรื่องความแข็งของก้านแล้ว คาแรคเตอร์ความโด่งของก้าน ก็มีผลทำให้ระยะแตกต่างกันด้วย ให้เลือกก้านที่ช่วยสร้างให้วิถีลูกเราเป็นแบบ Optimum Launch Angle & Low Spin Rate จะช่วยทำให้ท่านนักกอล์ฟทั้งหลายตีได้อย่างมีความสุขครับ

ข้อมูลการตีของ Rory Mciloy สังเกตมุมเหินของ Rory อยู่ที่ 13 องศา ข้อมูลตรงนี้ น่าสังเกตว่าข้อมูลนี้ ผมเคยนำเสนอผ่านงานเขียนหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังพบเห็นบ่อยๆ ว่านักกอล์ฟบางท่านที่ความเร็วหัวไม้น้อยกว่ารอรี่ย์ ยังเชื่อว่ามุมเหิน 13 องศาสูงไป และไม่เชื่อว่าองศานี้จะทำให้เขาตีไกลได้ 

 

3.การตีให้เข้า Sweet Zone

     สำหรับข้อ 3 ผมไม่ได้เขียนไว้ตอนปี 2549 เพราะตอนนั้น เครื่อง Launch Monitor ที่กอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ ซื้อมาใช้งาน ยังเป็นตัว Vector อยู่ ซึ่งเครื่องนี้จะวัดความเร็วลูกกอล์ฟแล้วย้อนกลับมาเป็นความเร็วหัวไม้ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถรู้ค่าๆ หนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า Smash Factor

     ผมมารู้จัก Smash Factor หลังจากซื้อ FlightScope Launch Monitor เข้ามาใช้งานเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 

 

     Smash Factor = ความเร็วลูกกอล์ฟ / ความเร็วหัวไม้

 

     ตัวแปรของ Smash Factor นี่น่าจะสะท้อนความหมายของบทความนี้ได้เป็นอย่างดี ตีไกล ใช้แรงคุ้ม ดูสูตรข้างบนดีๆ นะครับ ผมเคยเห็นนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้เท่ากัน แต่สร้างความเร็วให้กับลูกกอล์ฟไม่เท่ากัน เช่น

นักกอล์ฟชื่อประหยัด มีความเร็วหัวไม้ 100 MPH ความเร็วลูกกอล์ฟ 150 MPH ค่า Smash Factor = 1.5

นักกอล์ฟนายสุรุ่ย มีความเร็วหัวไม้ 100 MPH ความเร็วลูกกอล์ฟ 135 MPH ค่า Smash Factor = 1.35

*** Smash Factor สูงสุดที่เคยเห็นจากเครื่อง FlightScope มีค่าเท่ากับ 1.52

     จากข้อมูลนักกอล์ฟ 2 ท่านนี้ เราจะพบว่า ทั้งคู่สวิงด้วยความเร็วหัวไม้เท่ากัน แต่กลับสามารถสร้างความเร็วลูกกอล์ฟต่างกัน ตัวอย่างข้างบนชัดเจนว่า นายประหยัดออกแรงสวิงแล้วคุ้มเหนื่อยกว่านายสุรุ่ย  เคสนี้เรียกว่า ลงทุนเท่ากัน นายประหยัดกำไรเยอะกว่า

     เอาใหม่ ขอให้ท่านเก็บตัวเลขไว้ในใจความเร็วลูกกอล์ฟนายสุรุ่ย 135 MPH มาจากความเร็วหัวไม้ 100 MPH  ผมเคยเห็นนักกอล์ฟหลายคนที่สามารถสร้างความเร็วลูกกอล์ฟ 135 MPH ได้ ด้วยความเร็วหัวไม้เพียง 90 MPH เอง ( Smash Factor = 1.50) ยกตัวอย่างละกันว่า นักกอล์ฟคนนั้นชื่อ นายมัธยัสถ์

      ตัวอย่างนี้เจ็บกว่าอีก จากข้อมูล นายมัธยัสถ์ออกแรงสวิงน้อยกว่านายสุรุ่ย แต่ตีได้ระยะทางเท่ากัน อันนี้ยิ่งโครตคุ้ม ลงทุนน้อยกว่า แต่กำไรเท่ากัน

     คำถาม แล้วจะทำยังไงให้ Smash Factor สูงๆ 

    คำตอบ 

     1.คุมจังหวะสวิงให้เราสามารถอิมแพ็คให้เข้าบริเวณ Sweet Zone คำๆ นี้ผมตั้งขึ้นมาเอง สมัยก่อนตำราเค้าบอกให้ อิมแพ็คให้เข้ากลางหน้าไม้ หรือ Sweet Spot ซึ่งมันจะเป็นเพียงจุดๆ เดียวบนหน้าไม้ แต่เทคโนโลยีการออกแบบไดรเวอร์ในปัจจุบันพัฒนาไปมาก เราสามารถตีผิดพลาดไปจากกลางหน้าไม้ได้บ้าง โดยที่ค่า Smash Factor ยังอยู่ในโซนสูงๆ อยู่

     2.สร้างแนวสวิงให้หน้าไม้สแควร์หรือปิดเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ Swing Path เรื่องนี้ไว้ขอเขียนเป็นตอนพิเศษในโอกาสต่อไปครับ ต้องใช้พื้นที่อีกราว 1-3 หน้า A4 ขอแบบง่ายๆ ก่อน คือ เท่าที่ผมเห็นข้อมูลในเครื่อง FlightScope คนที่ตีดรอว์มีโอกาศสร้าง Smash Factor ได้สูงกว่า คนที่ตีเฟดชนิดบานออกไปไกล หรือตีสไลด์สุดๆ 

     3.Hit Up สวิงให้หัวไม้เข้ากระทบลูกในมุมเสยครับ ส่วนใหญ่ Smash Factor จะได้ค่าสูงกว่า พวก Hit Down ( หัวไม้เข้ากระทบลูกในมุมกดลง)

     4.ฟิตติ้งหาสเปคไดรเวอร์ ชนิดก้าน , น้ำหนักก้าน , น้ำหนักรวม ,  Swing Weight ,Spine ก้าน ความยาวไดรเวอร์ , ขนาดกริพ หรือทุกหนทางที่ทำให้ เพื่อให้เราตีเข้า Sweet Zone ให้จงได้

     5.ข้อสุดท้ายสำคัญมาก ฟิตติ้งกับ FlightScope Launch Monitor จับตาดูว่า Smash Factor ของไดรเวอร์รุ่นที่ท่านอยู่ขึ้นยาก ขึ้นง่าย อย่างไร ผมเคยเห็นโปรทัวร์ที่สวิงเป๊ะ ตีไม่ได้ระยะ เพราะหัวไดรเวอร์ที่ใช้อยู่หน้าไม้ออกแบบหรือผลิตมาไม่ดีพอ ถ้าพูดแบบหยาบๆ คือ ห่วยครับ   ตีให้ตาย สวิงให้เป๊ะ โมจนหมดเงินไปมาก Smash Factor ก็คงไม่ขึ้นครับ 

 

ลองนำข้อมูลนี้ไปประเมินตัวเองกันครับ เรายังขาดอะไรไป ที่ทำให้เราตีไดรเวอร์ไม่ไกลพอ

            ขาดแรง แต่อยากตีไกลขึ้นจากเดิมมากๆ  ก็ออกกำลังกายเพิ่ม

            ขาดแรง แต่แค่อยากตีไกลขึ้นอีกนิดหน่อยก็พอ ก็ลองดู 3 ข้อที่ผมเขียนมาข้างต้น

            แรงดี แต่ระยะไม่สมส่วนกับแรงที่ใส่ไป ก็ลองพิจารณาว่าตัวท่านติดปัญหาตรงข้อไหน ใน 3 ข้อ

            แต่ถ้าขาดแรง ไม่ออกกำลังกายเพิ่ม ขาดทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาข้างบน แล้วยังหวังว่า สักวันนึง   อยากตีไกลเพิ่มขึ้นมากๆ ให้ไกลถึง 300 หลา เรื่องนี้จนปัญญาผมจริงๆ ครับ ต้องไปลองถามเทวดาดู เผื่อจะหาไม้วิเศษให้ท่านได้ครับ

            ขอให้ทุกท่านที่อ่านมาจนจบ 10 หน้า A4 โชคดี ตีไกลกันถ้วนหน้าครับ สวัสดีครับ  

 

1 แชร์ 1 ไลค์ ของท่าน อาจดูน้อยนิด แต่มันช่วยเติมไฟให้เรามีแรงทำงานสร้างสรรค์งานมีประโยชน์ต่อไปไม่สิ้นสุด

Photo Cradit ; SP700 เกรียงศักดิ์ สุทธิวีระวัฒน์ 

เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

Chalermwong B.Kajorn

ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.

12 / 7 /2559

https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/

Official Line : @golferonline

  

 

Tags:Tags : ตีไกล , ไดรฟ 300 หลา , เทคนิคตีไกล , ไดรเวอร์ , Driver , Drivers , Wood , Woods , หัวไม้ , หัวไม้ 1 , FlightScope , LongestDrive , Longest Drive , Long Drive , LongDrive Power PowerTips Power Tips PowerTip PowerTip

 




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8