วิศวะจุฬาคว้าแชมป์กอล์ฟประเพณี 8 เกียร์ ครั้งที่ 1

เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

13 Nov 2017
  • Shares:

 

     ตั้งแต่ผมทำสื่อกอล์ฟ และร่วมอยู่ในงานเลี้ยงตอนประกาศผลการแข่งขันกอล์ฟมาตลอด 12 ปี ผมรู้สึกว่าบรรยากาศงานเลี้ยงประกาศผลของการแข่งขันกอล์ฟประเพณีวิศวะ มันที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงาน 5 เกียร์ ที่ผมเคยมีโอกาสไปช่วยจัดการแข่งขันอยู่ 2 ครั้ง ตอนวิศวะขอนแก่น และวิศวะจุฬา เป็นเจ้าภาพ และล่าสุด 8 เกียร์ ยิ่งมันสุดๆ

     กอล์ฟประเพณี 8 เกียร์ เป็นการแข่งขันครั้งแรกที่กว่าจะระดมสมองคิดวิธีการแข่งขัน และสรุปข้อตกลงกันได้ ใช้เวลานานอยู่หลายปีกว่าจะมาลงเอยและระเบิดศึกการแข่งขันกอล์ฟ 8 เกียร์ครั้งแรก เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

     ใครก็ตามที่เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์คงเคยสัมผัสบรรยากาศการแข่งขันกีฬาเกียร์สัมพันธ์ ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาในหมู่นิสิต นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ประเทศไทยเริ่มมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะเป็นการแข่งขันที่มีชื่อว่า กีฬา 8 เกียร์

ประวัติกีฬา 8 เกียร์

     การแข่งขันกีฬาในหมู่คณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นแต่เดิมเรียกว่า "กีฬา 8 เกียร์" (8 Gear) หมายถึงการแข่งขันกีฬาระหว่างสถาบันการศึกษาที่ทำการสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ มีอยู่ด้วยกัน 8 สถาบันโดยมีวัตถุประสงค์คือ ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์กันระหว่างนิสิตนักศึกษา ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์จากทุกสถาบัน ซึ่งก่อให้เกิดผลคือ

1.มีการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการมากขึ้น นำมาซึ่งระดับมาตรฐานทางการศึกษา

2.เสริมสร้างจรรยาบรรณของการเป็นวิศวกรที่ดีในอนาคต

     ดังนั้นพอจะกล่าวได้ว่า กีฬา 8 เกียร์ กำเนิดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่วิชาการของชาติตั้งแต่ยังศึกษาอยู่นั้นเอง และก่อให้เกิดการรู้จัก เข้าใจกันของวิศวกรต่างสถาบัน ซึ่งเป็นผลดีในอนาคตในการร่วมมือกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มแรกของการแข่งขันกีฬานี้ สมาชิกที่เข้าร่วมการแข่งขันมีไม่ครบ 8 สถาบันจึงยังไม่เรียกว่าเกียร์ 8 สถาบัน ซึ่งในระยะบุกเบิกนั้นมีเพียง 4 สถาบันเท่านั้น อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     และในระยะต่อมาก็มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์เพิ่มอีก 4 แห่งและส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันด้วย ทำให้การแข่งขันกีฬา 8 เกียร์สมบูรณ์ขึ้นและเรียกว่า กีฬา 8 เกียร์ มาโดยตลอด ซึ่งสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์เพิ่มอีก 4 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ทั้ง 3 วิทยาเขต คือวิทยาเขตธนบุรี วิทยาเขตลาดกระบัง และวิทยาเขตพระนครเหนือ (ในสมัยนั้นยังคงเป็นสถาบันเดียวกันอยู่) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันกีฬา 8 เกียร์อย่างสมบูรณ์

โดยสรุปแล้วสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬา 8 เกียร์ ทั้ง 8 สถาบันมีดังนี้

1.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2.มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

5.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

6.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

7.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

8.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

       สำหรับการแข่งขันกีฬา 8 เกียร์ (8 Gear) นั้น จัดมาทั้งหมด 13 ครั้ง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นชื่อกีฬาเกียร์สัมพันธ์ เนื่องจากมีสถาบันเข้าร่วมมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้มีสถาบันต่างๆเป็นเจ้าภาพจัดงาน ดังนี้

 

 

ครั้งที่ ปี (พ.ศ.)  ชื่อการแข่งขัน  เจ้าภาพ  

1         2517       เกียร์ดงตาล    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

2         2518       เกียร์สงขลาฯ   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

3          2523      เกียร์เชียงใหม่   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

4          2524      เกียร์ขอนแก่น    มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

5          2525      เกียร์ลาดกระบัง  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

6          2526       เกียร์สงขลาฯ      มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

7          2527       เกียร์เชียงใหม่     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

8         2528        เกียร์ขอนแก่น     มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

9         2529        เกียร์ลาดกระบัง  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

10      2530        เกียร์เชียงใหม่     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

11      2531        เกียร์ขอนแก่น     มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

12     2532        เกียร์สงขลาฯ      มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

13    2533         เกียร์ดงตาล        มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

    จากประวัติศาสตร์ศาสตร์การแข่งขันกีฬา 8 เกียร์ ที่ผ่านมา ทำให้เรามีความรู้สึกร่วมกันว่า แม้ว่าการแข่งขันกอล์ฟประเพณี 8 เกียร์ จะยังเป็นรายการใหม่อยู่ก็ตาม และจัดขึ้นครั้งแรกในปีนี้ แต่เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ชาววิศวกรแล้ว 8 เกียร์ มันคือความทรงจำ และความผูกผันที่เราชาววิศวกรมีมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิต นักศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะวิศวกรที่เข้าศึกษาปริญญาตรี ก่อนปีพ.ศ.2533 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เรียกการแข่งขันกีฬาชาววิศวะว่า 8 เกียร์

     เมื่อมีการประกาศจัดการแข่งขัน กอล์ฟประเพณี 8 เกียร์ ครั้งแรกขึ้น แค่ได้ยินข่าว ก็รู้สึกสัมผัสได้ถึงความมันก่อนวันระเบิดศึกจริงๆ แล้ว

     ครั้งแรกที่ผมได้ยินข่าว ก็สงสัยมาตลอดว่า จะแข่งขันอย่างไร จะไปปิดสนามที่ออกก๊วนละ 8 คน หรือเปล่า หรือจะทำยังไงดี

     แต่เมื่อได้รับมอบหมายจากพี่ สุริยะ   สุริยะ ตันติวิวัฒน์  นายกสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้มารับหน้าที่ดำเนินการจัดการแข่งขันครั้งนี้แล้ว และได้ฟังกติกาแล้ว จินตนาการได้ถึงบรรยากาศกองเชียร์ในงานเลี้ยงได้เลย ว่ามันแน่ๆ!!!

 

ทีมวิศวะเกษตร

 

ทีมวิศวะขอนแก่น

 

ทีมวิศวะจุฬา

 

ทีมวิศวะเชียงใหม่

 

ทีมวิศวะบางมด

 

วิศวะพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

 

 

วิศวะพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

วิศวะสงขลา

 

 

 

วิธีการแข่งขัน ผมขอเล่าแบบย่อๆ ดังนี้

     การแข่งขันแต่ละทีมจะส่งผู้เล่นมาทีมละ 18 คน (ทั่วไป 15 คน และอาวุโส 3 คน) มีทั้งหมด 8 ทีม ก็จะมีผู้เล่นในสนามทั้งหมด 144 คน ในการแข่งขันปีแรก แต่ละสถาบันส่งแฮนดี้แคปในทีมตัวเองมาให้คณะกรรมการ โดยนักกอล์ฟทั่วไปแฮนดี้แคปสูงสุดไม่เกิน 10 นักกอล์ฟอาวุโสไม่เกิน 15 การคิดคะแนนจะใช้ระบบ Stableford ในการคำนวณ (หลุมที่มีแต้มต่อให้ลบ 1 ออกจากสกอร์จริง แล้วค่อยคิดคะแนน Stableford )  โดยมีเงื่อนไขว่า แต่ละคนจะได้คะแนนจาก Stableford สูงสุดแค่ 40 คะแนนเท่านั้น

     ทีนี้วิธีการตัดสินนี่แหละเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้การแข่งขันเข้มข้น ตื่นเต้น และสูสีมากๆ โดยพี่ๆ คณะกรรมการได้ระดมสมองคิดกันแล้วว่า จะใช้คะแนนแบบ Stableford ที่ดีที่สุด จากนักกอล์ฟทั่วไป 12 ท่าน จาก 15 ท่าน และ อาวุโส 2 คน จาก 3 ท่าน ซึ่งจะมีทั้งหมด 14 ท่านที่นำมาใช้ในการคิดคะแนนรวม เพื่อตัดสินหาทีมที่ชนะเลิศ

 

     ซึ่งผลการแข่งขันก็เข้มข้น สมกับที่พี่ๆ ชาววิศวกรได้คำนวณมาแล้ว เข้มข้นมากๆ จริงๆ โดยแชมป์ครั้งแรกของกอล์ฟประเพณี 8 เกียร์คือ ทีมวิศวะจุฬา เฉือนทีมรองชนะเลิศวิศวะเชียงใหม่ไปเพียง 2 คะแนน และเฉือนทีมวิศวะขอนแก่นไปเพียง 4 คะแนน

 

โดยผลคะแนนทั้ง 3 ทีมเป็นดังนี้

     วิศวะจุฬา               525  คะแนน  (เฉลี่ย 37.5 คะแนนต่อท่าน)

     วิศวะเชียงใหม่       523 คะแนน    (เฉลี่ย 37.36 คะแนนต่อท่าน )

     วิศวะขอนแก่น       521 คะแนน     (เฉลี่ย 37.21 คะแนนต่อท่าน)

     ผมลองวิเคราะห์ผลของคะแนนที่ออกมาจาก 3 อันดับแรก คะแนนใน 3 ทีมนี้ มันสามารถพลิกผันได้จากผลการพัตต์ลงหรือไม่ลงแค่เพียงหลุมใดหลุมหนึ่งเลยครับ มันเฉือนกันได้เพียงแค่การพัตต์แค่หลุมเดียวจริงๆ

     สมมุติว่า ก่อนถึงหลุมสุดท้ายทั้ง 3 ทีม นักกอล์ฟคนใดคนหนึ่งในแต่ละทีม มีคะแนนสะสมแบบ Stableford เท่ากันที่ 36 คะแนน และหลุมสุดท้ายเป็นหลุมต่อของทั้ง 3 คน ทีมจุฬาได้เบอร์ดี้ ก็จะได้คะแนนจากหลุมนี้ 4 ทีมเชียงใหม่พัตต์พาร์ได้โบกี้ คะแนนหลุมนี้คือ 2 และทีมขอนแก่นพัตต์ดับเบิ้ล ออกทริปเปิ้ล คะแนนหลุมนี้คือ 0

     หลังจบ 18 หลุม ทีมจุฬาจะมี 40 เชียงใหม่ 38 และ ขอนแก่น 36

     จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นได้ว่า แค่เพียงการพัตต์หลุมเดียว ของนักกอล์ฟเพียงคนเดียว มันส่งผลกับการแพ้ ชนะได้เลยครับ ความมันของการแข่งขันคือทุกคน ทุกสโตรค ทุกพัตต์มีความสำคัญต่อผลการแข่งขันเลยครับ ทิ้งไม่ได้เลย แม้ว่าจะตีหลุดไปแล้วในหลุมนั้นๆ

        อย่างไรก็ตาม หลังการแข่งขันจบสิ้นแล้ว มิตรภาพและความสัมพันธ์ของชาววิศวกรก็จะเหนียวแน่นเหมือนเดิม กีฬามีแพ้ มีชนะ เล่นกันจบ แต่ละสถาบันกอดคอ ยินดี ชื่นชม และนั่งดื่มสุราสังสรรค์เป็นเพื่อนกันดังเดิม เพราะพวกเราชาววิศวกรวนเวียนเจอกันในสายงานกันตลอดการทำงาน มีมิตรภาพสายสัมพันธ์กับพวกเรามายาวนานตลอดวิชาชีพวิศวกร แรงเลือดหมูครับ

     ขอแสดงความยินดีกับทีมวิศวะจุฬา และขอบคุณทีมวิศวะขอนแก่นที่ให้ผมมีส่วนร่วมกับแมทช์กอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ เร้าใจ เชียร์มันโครตๆ ระดับนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

สนใจให้จัดแข่งกอล์ฟมันๆ แบบนี้

โทร 099-563-9293 หรือแอดไลน์ cing3777


สอบถามเพิ่มเติม



SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8