Launch Monitor ระบบไหนดี
เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
08 Oct 2017
- Shares:
สมัยนี้อุปกรณ์ Launch Monitor เริ่มเข้ามามีบทบาทในการซ้อมกอล์ฟมากขึ้น โดยเฉพาะนักกอล์ฟที่มองหาตัว Launch Monitor ไว้ซ้อมเองภายในบ้าน
หากลองค้นหาอุปกรณ์ Launch Monitor โดยใช้คีย์เวิร์ดในการค้นว่า Golf Launch Monitor จะพบว่ามี Launch Monitor มากกว่า 10 แบรนด์ และมากกว่า 20 รุ่นให้เลือกใช้งาน
แต่ทั้งหมดทั้งปวงแบรนด์ต่างๆ รุ่นต่างๆ จะมีวิธีการวัดข้อมูลอยู่ไม่กี่ระบบ ซึ่งแต่ละระบบก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป
1.ระบบเลเซอร์ หรืออินฟราเรด
หลักการของระบบนี้ จะใช้วิธีการยิงเลเซอร์หรืออินฟราเรดครอบคลุมพื้นที่ลูกกอล์ฟและหัวไม้วิ่งผ่าน เมื่อหัวไม้และลูกกอล์ฟวิ่งผ่านเลเซอร์หรืออินฟราเรดไปแล้ว ก็จะใช้หลักคณิตศาสตร์ในการคำนวณมุมเหิน ทิศทาง ความเร็วหัวไม้ ความเร็วลูกกอล์ฟ หลังจากนั้นก็จะนำค่าความเร็วลูกกอล์ฟ มุมเหินมาใช้ในการคำนวณระยะทาง
ข้อดีของระบบนี้ ผมยังมองไม่เห็น แต่ข้อเสียมีอยู่มาก ที่ชัดเจนมากคือ ระบบนี้ ไม่สามารถวัดค่าอัตราสปิน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการแยกแยะการตีที่สปินน้อยทำให้ตีไดรเวอร์ได้ระยะไกล กับสปินจัดทำให้ตีไดรเวอร์สั้นกว่าที่ควรจะเป็น ระยะหลังๆ Launch Monitor ระบบนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว รุ่นดังๆ ที่ได้รับความนิยมในอดีตเช่น Golf Achiever
2.ระบบถ่ายภาพ
ระบบถ่ายภาพจะใช้วิธีการที่เรียกว่า Stroboscope หรือรู้จักกันว่า Strobe ซึ่ง Joseph Plateau เป็นผู้สร้างนวตกรรมนี้ขึ้นมาในปี 1832 การใช้เทคนิค Strobe เพื่อใช้ในการศึกษาการเคลื่อนที่ของวัตถุ การหมุน และอื่นๆ ที่เราศึกษา ในส่วนของกอล์ฟ มีหลายแบรนด์ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ที่โด่งดังเช่น Vector ใช้ระบบนี้แบรนด์แรกๆ ของโลก ตามมาด้วย Foresight Skytrak GSA LX
เทคโนโลยีมีความแม่นยำมาก สำหรับการวัดค่าที่ภาพถ่ายสามารถมองเห็นได้จากด้านข้าง เช่น มุมเหิน อัตราสปิน ความเร็วลูกกอล์ฟ ทิศทางที่ลูกกอล์ฟพุ่งออกไป หลังจากที่ได้ค่าเหล่านี้แล้ว Software ที่เขียนขึ้นจะทำหน้าที่คำนวณ ย้อนกลับไปหาความเร็วหัวไม้ ระยะทาง ทิศทาง และอื่นๆ
หลักการวัดคือ ถ้าภาพถ่ายของวัตถุ 2 ภาพหรือมากกว่านั้น อยู่ห่างกันเท่าไหร่ ก็เอาระยะทางมาหารด้วยเวลาก็จะได้ความเร็วของวัตถุ ขีดเส้นเชื่อมระหว่างกึ่งกลางของวัตถุก็จะได้มุมเหิน หากวัตถุ 2 รูปมีขนาดต่างกัน เช่นลูกกอล์ฟเล็กลง แสดงว่า ลูกกอล์ฟกำลังวิ่งไกลจากเครื่อง แสดงว่าลูกกอล์ฟสตาร์ทพุ่งไปทางซ้ายของเครื่อง (สำหรับคนถนัดขวา) แต่ถ้าลูกกอล์ฟใหญ่ขึ้น แสดงว่าลูกกอล์ฟกำลังพุ่งเข้าใกล้เครื่อง แสดงว่าลูกกอล์ฟสตาร์ทพุ่งไปทางขวา และเมื่อเครื่องสามารถมาร์คจุดอ้างอิงที่ลูกกอล์ฟเช่น จุด หรือเส้นที่อยู่บนลูกกอล์ฟ เมื่อลูกกอล์ฟมีการหมุน ก็จะสามารถคำนวณได้ว่า จุดมาร์คนั้นมีการหมุนมากน้อยแค่ไหน ก็จะทราบค่าอัตราการสปินของลูกกอล์ฟ
ข้อจำกัดของเทคโนโลยีนี้คือ ค่าที่เครื่องวัดได้จริงๆ คือค่าที่เครื่องสามารถสร้างภาพถ่ายขึ้นมาได้ ซึ่งเครื่องส่วนใหญ่ในท้องตลาดมักจะถ่ายเฉพาะลูกกอล์ฟอย่างเดียว มิได้ถ่ายภาพหัวไม้ไว้ด้วย ทำให้ค่าความเร็วหัวไม้ มุมที่หัวไม้เดินทางเข้ากระทบลูกจากแนวดิ่ง แนวราบ มักไม่ตรงตามความเป็นจริง ยกเว้นว่า ต้องใช้อีกเครื่องหนึ่งมาจับภาพของหัวไม้ จึงจะได้ค่าของหัวไม้ที่เป็นค่าที่แท้จริง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีกว่า ค่าของหัวไม้ที่วัดได้ จะวัดเฉพาะช่วงสั้นๆ ที่ไม้กอล์ฟกำลังเข้ากระทบลูก ซึ่งค่าที่ได้จะมีแค่ค่าความเร็วหัวไม้ มุมที่ไม้กอล์ฟเข้ากระทบลูก Club Path และ Angle of Attack แต่ไม่สามารถรู้ถึงแนว Swing Plane ของไม้กอล์ฟ ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์ทฤษฎีสวิงสมัยใหม่ เรื่องนี้เป็นข้อจำกัดจริงๆ ของระบบกล้องถ่ายภาพ คือสามารถวิเคราะห์สวิงได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ละเอียดเพียงพอในการนำไปใช้ปรับวงสวิงตามทฤษฎี D-Plane
3.ระบบเรดาร์
สำหรับระบบนี้ มีหลายๆ คนสงสัยว่า มันใช้หลักการอะไรในการจับวัตถุ จริงๆ แล้ว เรดาร์มันสามารถเห็นการเคลื่อนที่ของวัตถุคล้ายๆ กับที่ตาเราเห็นลูกกอล์ฟเคลื่อนที่ในอากาศ ถ้าการสร้างภาพให้คนเห็นภาพ เกิดจากการที่แสงสะท้อนวัตถุใดๆ แล้วสร้างขึ้นมาเป็นภาพให้คนเห็น เรดาร์จะใช้วิธีการยิงคลื่นไมโครเวฟไปสะท้อนที่วัตถุ เพื่อบอกตำแหน่งว่าวัตถุนั้นอยู่ที่ไหน และกำลังเคลื่อนที่ไปทางไหน ด้วยความเร็วเท่าไหร่? ในจอมอนิเตอร์ของห้องควบคุมการบินที่ใช้เรดาร์จับการเคลื่อนที่ของเครื่องบินจะเห็นตำแหน่งการเคลื่อนที่ของเครื่องบิน หลักการคือเครื่องจะส่งคลื่นไมโครเวฟกระจายออกไปหน้าเครื่อง เมื่อคลื่นนี้ไปสะท้อนกับวัตถุมันจะส่งคลื่นความถี่กลับมา ความถี่ที่เปลี่ยนแปลงไปในการกระทบวัตถุแต่ละตำแหน่งจะแตกต่างกันไป ทำให้เครื่องสามารถรู้ได้ว่าวัตถุนั้นๆ กำลังเคลื่อนที่อยู่ที่ตำแหน่งใด และกำลังใช้ความเร็วเท่าไหร่ในการเคลื่อนที่
สำหรับเครื่อง Launch Monitor ระบบเรดาร์ที่นิยมในปัจจุบันก็จะมี FlightScope และ Trackman ซึ่งทั้งคู่ต่างใช้วิธีเดียวกันในการแทรคลูกกอล์ฟและไม้กอล์ฟ ด้วยการส่งคลื่นไมโครเวฟกระจายไปด้านหน้าเครื่องครอบคลุมระยะที่ลูกกอล์ฟจะลอยไปตกลงพื้น เมื่อไม้กอล์ฟหรือลูกกอล์ฟเคลื่อนที่ผ่าน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความถี่ของคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งเมื่อเครื่องรับค่าความถี่ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถรู้ได้ว่า ไม้กอล์ฟ หรือ ลูกกอล์ฟนั้น กำลังเครื่องที่ไปทิศทางไหน ด้วยความเร็วเท่าไหร่
Launch Monitor ระบบเรดาร์มีความแม่นยำสูงมาก เนื่องจากตัวเครื่องวางไว้อยู่ในมุมที่มองออกไปด้านหน้าในทิศทางที่ลูกกอล์ฟกำลังเคลื่อนที่ออกไป ต่างจากระบบกล้องที่วางหันหน้าเข้าหาตัวผู้ตี ซึ่งข้อมูลที่ได้จะอยู่ในกรอบสั้นๆ แค่ไม้กอล์ฟหรือลูกกอล์ฟวิ่งผ่าน ดังนั้นระบบเรดาร์จึงสามารถแทรคลูกกอล์ฟได้ตามตำแหน่งที่มันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง ตำแหน่งที่ลูกกอล์ฟตกลงพื้น ไกลแค่ไหน ซ้าย หรือ ขวา จะเป็นไปตามที่เราเห็นจริงๆ และในโมเดลใหญ่ๆ อย่าง FlightScope Xi Tour และ X3 สามารถแทรคการเคลื่อนที่ของไม้กอล์ฟที่ระยะ 2 เมตรกว่าๆ ทำให้สามารถแสดงค่าได้ทั้ง Swing Plane ( H Plane ) และ Club Path ของไม้กอล์ฟ รวมถึง Angle of Attack ซึ่ง ทั้ง 3 ค่าล้วนมีความสำคัญมากๆ ในการนำไปใช้วิเคราะห์สวิงแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม และสามารถนำข้อมูลไปแก้ไขสวิงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมากในปัจจุบัน
ข้อเสียเพียงเรื่องเดียวของ Launch Monitor ระบบเรดาร์ คือ การวัดค่าสปินให้แม่นยำ จำเป็นต้องใช้สติ๊กเกอร์โลหะติดไว้ที่ลูกกอล์ฟ โดยอาศัยหลักการให้สติ๊กเกอร์นี้หมุนครบ 1 รอบ เครื่องก็จะสามารถคำนวณอัตราสปินออกมาได้อย่างแม่นยำ และเราต้องคอยเปลี่ยนสติ๊กเกอร์แผ่นใหม่ เมื่อสติ๊กเกอร์นั้นบางลงจนเรดาร์ไม่สามารถจับการหมุนของสติ๊กเกอร์
ทั้งหมดทั้งปวงเป็นข้อมูลของระบบการทำงานของ Launch Monitor ที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ถ้าถามผมว่า ระบบไหนน่าใช้งานมากที่สุด ถ้าไม่มีปัจจัยเรื่องงบประมาณจำกัด ผมแนะนำว่า ยังไงระบบเรดาร์ก็แม่นยำที่สุด ทั้งใน Indoor และ Outdoor ( การสร้างห้อง Indoor ต้องระวังการติดตั้งเครื่องมืออิเล็คโทรนิคที่ปล่อยคลื่นไมโครเวฟมารบกวนการทำงานของเรดาร์ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนสร้างห้อง) ยิ่งถ้าใครซีเรียสเรื่องระยะทาง จุดตกของลูกกอล์ฟต้องตรงตามความเป็นจริง ยังไงเรดาร์ก็แม่นยำที่สุด เพราะยิงคลื่นไมโครเวฟออกไปเพื่อแทรคลูกกอล์ฟไปจนลูกตกพื้น ส่วนระบบอื่นใช้วิธีคำนวณเอา แต่ถ้ามีงบประมาณที่จำกัด ในตลาดมีเครื่อง Launch Monitor อยู่หลายรุ่น ลองเลือกกันตามงบประมาณของแต่ละท่านดูครับ
ติดตามข้อมูล ความรู้ต่างๆ จากเราได้ที่
https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/
https://www.facebook.com/cing8333
https://line.me/R/ti/p/%40golferonline
หรือค้นหาเพื่อนใน line โดยคีย์คำว่า @golferonline
8 / 10 / 2017
Keys : Launch Monitor