กฎ-กติกา มารยาท (ของการพนัน)

เรียบเรียงโดย กฤฎิน สุวรรณบุปผา

15 Jun 2017
  • Shares:

 

     แนะนําวิธีพนันขันต่อของกอล์ฟมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้เปลี่ยนบรรยากาศเป็นเรื่อง “กฎ-กติกามารยาท” กันบ้าง ไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไรและเล่นเพื่อออกกําลังกายหรือเล่นเพื่อการพนันก็ล้วนต้องมีกฎระเบียบที่ผู้เล่นยึดบรรทัดฐานเดียวกันทั้งสิ้น 

     

     คนเล่นกอล์ฟจะรู้ว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่มีช่องโหว่ของกฎ-กติกาเยอะมาก พูดภาษาชาวบ้านคือกอล์ฟเป็นกีฬาที่โกงง่ายมาก บางคนโกงกันหน้าด้านๆ บางคนก็มีวิธีโกงแนบเนียน จนมีคนเคยพูดว่าก่อนทําธุรกิจกับใคร ถ้าอยากจะรู้นิสัยของเขาก็ให้ชวนคนๆนั้นไปเล่นกอล์ฟ นอกจากโกงง่ายแล้วกอล์ฟยังเป็นเกมที่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ จนองค์กรกอล์ฟระดับโลกอย่าง R&A หรือ USGA ต้องตรวจสอบกฎ-กติกาและอัพเดทตําราใหม่กันอยู่เป็นประจําทุกปี

 

     กฎ-กติกาสากลขอปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานระดับโลกเขาปวดหัวกันไป สําหรับบทความนี้ผมขอแนะนํากฎ-กติกาของกอล์ฟ “สายพนัน” ซึ่งมีความตรงไปตรงมาและเข้าใจง่ายกว่ากฎ-กติกาสากลเยอะ

การเล่นโลกัณตร์

     “กฎโลกัณตร์” เป็นกฎพนันกอล์ฟกฎหนึ่งที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายจนนักกอล์ฟเรียกกันติดปาก - ออกเสียง “โล-กัน” มาจากคําว่า “โลกัณตร์” พจนานุกรมฉบับราชบันฑิตฯ ให้ความหมายคําๆนี้ว่าเป็นนรกขุมหนึ่งที่มีบทลงโทษสูงสุดไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ใช้กับผู้ทําความผิดขั้นรุนแรง เช่น พวกขายชาติจะต้องตกนรกโลกัณตร์ เป็นต้น 

     ผู้เขียนเข้าใจว่านรกโลกัณตร์คงเป็นนรกขุมสุดท้ายเพราะในพจนานุกรมไทย-อังกฤษแปลคําว่า “โลกัณตร์” ลงตัวว่า “Lowest Hell” (นรกขั้นสุดท้าย) กฎโลกัณตร์จะบังคับให้นักกอล์ฟตีลูกที่จุดตกโดยไม่มีการผ่อนผันใดๆทั้งสิ้น ไม่มีฟรีดรอป ไม่ว่าลูกจะอยู่บนถนนคอนกรีต ซุกอยู่ที่รากไม้หรือขึ้นไปค้างอยู่บนหลังคาบ้าน เหมือนกับการตกนรกโลกัณตร์ที่ไม่ผ่อนโทษให้ใครหน้าไหนทั้งสิ้น

     หากตีตกน้ำหรือลูกไปอยู่ในไลที่ตีต่อไม่ได้จริงๆ ผู้เล่นสามารถยอมเสียหนึ่งสโตรคแล้วนําลูกมาดรอปในแฟร์เวย์ได้ทันทีโดยไม่ต้องไปดรอปตามกติกาสากล (รัศมีหนึ่งไม้กอล์ฟ) จากจุดเกิดเหตุ  

     ถือเป็นกฎ-กติกาที่ให้คุณให้โทษชัดเจน ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ กติกานี้ป้องกันการถกเถียงกันว่าใครจะได้เปรียบเสียเปรียบในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด สามารถแก้ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและการ “เสียเพื่อน” ในสนามกอล์ฟ “ตกตรงไหนตีตรงนั้น ตีไม่ได้ยอมเสียหนึ่งสโตรคแล้วไปตีในแฟร์เวย์”

     ถ้ามองในด้านลบก็เคยมีคนวิจารณ์กฎโลกัณตร์ว่านักกอล์ฟที่นิยมเล่นโลกัณตร์ใจแคบเกินไป นิดๆหน่อยๆยอมกันไม่ได้แล้วจะคบกันเป็นเพื่อนมาตีกอล์ฟด้วยกันทําไม กรณีลูกตกอยู่กลางถนนต้องเอาเหล็กที่ซื้อมาราคาเป็นหมื่นฟาดลงกับพื้นซีเมนต์มันคุ้นตรงไหน ผมถือว่าเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นเหมือนกัน 

     ไม่ว่าท่านจะเล่นกอล์ฟด้วยกฎ-กติกาแบบไหนขอให้มาจากความสมัครใจจากผู้เล่นทุกคนในก๊วน บาง  ก๊วนเล่นกันหลุมละ 20 อัฐ การเล่นโลกัณตร์เอาไม้ฟาดกับซีเมนต์คงไม่คุ้ม หรือสับเหล็กลงไปเจอรากไม้จนเจ็บข้อมือเล่นต่อไม่ได้ก็ไม่ควรทํา ในขณะที่บางก๊วนพนันกันหนักผลแพ้-ชนะกันสโตรคเดียวอาจมีมูลค่าถึงกับซื้อไม้ใหม่ยี่ห้อแพงได้ทั้งชุดหรือซื้อรถป้ายแดงใหม่เอี่ยมได้ 1 คัน  คู่แข่งคงไม่ยอมให้ได้ฟรีดรอปกันง่ายๆ 

     กฎโลกัณตร์มีทั้งผลดีและผลเสีย มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เหมือนกฎกติกาการเล่นกีฬาอื่นๆ กฎโลกัณตร์มาจากการริเริ่มของนักกอล์ฟ ไทย แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าใครเป็นผู้คิดและเริ่มใช่ครั้งแรกในยุคสมัยใดก็ตาม

     ครั้งหนึ่งผมไปออกรอบกับชาวต่างชาติ ในก๊วนมีผมเป็นคนไทยคนเดียว ถ้าจําไม่ผิดที่เหลือจะเป็นนักกอล์ฟญี่ปุ่นหนึ่งคนและอเมริกันอีกสองคน วันนั้นเล่นพนันกันด้วย ผมเห็นว่าไหนๆมันก็หลายชาติหลายภาษาหากมีปัญหาจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เลยเสนอให้เล่นโลกัณตร์ทั้งที่ในใจคิดว่าพวกเขาคงไม่รู้จัก “I suggest we play Logun, the Lowest Hell Rule” นักกอล์ฟอเมริกันตอบกลับมาว่า “What the hell is Logun?” (กฎโลกัณตร์อะไรของเอ็งวะ) 

     ปรากฏว่าไม่มีใครเคยเล่นโลกัณตร์จริงๆ ผมอธิบายกฎกอล์ฟไทยให้ชาวต่างชาติเข้าใจแล้ววันนั้นรู้สึกอายเขานิดๆ เพราะชาวต่างชาติถือว่ากอล์ฟเป็นเกมที่มีเสน่ห์ของความเป็นสุภาพบุรุษ ยึดถือความซื่อสัตย์ ไม่เอารัดเอาเปรียบ และควรจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน แต่กฎโลกัณตร์เป็นกฎที่กําจัดเสน่ห์ทั้งหมดของกอล์ฟเพียงเพื่อความชัดเจนทางการพนันเพียงอย่างเดียว 

     เล่นกอล์ฟวันนั้นไม่มีการถกเถียงกัน จบหลุมมีผลได้-เสียอย่างชัดเจน ไม่มีการคาใจว่าใครเอาเปรียบใคร แต่ผมไม่กล้าถามว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับกติกากอล์ฟของคนไทย

     ส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบเล่นโลกัณตร์ เล่นกอล์ฟกับก๊วนประจําจะไม่ใช้กฎนี้ ตรงกันข้ามจะไม่มีกติกาบังคับหยุมหยิมแต่ทุกคนรู้ดีว่าต้องอยู่ในขอบเขต (แม้ว่าขอบเขตของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน) แต่เราก็สามารถผ่อนผันกันได้เพราะเป้าหมายของทุกคนคือการเล่นกอล์ฟกันนานๆ เล่นจนกว่าจะแก่ตายกันไปข้าง

     ผมให้ชื่อกฎ-กติกาของก๊วนประจําผมว่า “กฎอนุโลม” ลูกอยู่บนถนนได้ฟรีดรอปทันที ลูกติดโคลนสามารถมาร์คลูกหยิบขึ้นมาทําความสะอาดได้ ลูกตกน้ำไปดรอปทางฝั่งที่ใกล้จุดตก (ไม่บังคับดรอปที่จุดผ่านน้ำ) หากลูกอยู่บนรากไม้ก็ไม่ต้องตีให้สะท้านมือ อนุญาตให้ขยับลูกโดยไม่เสียสโตรค 

     กฎ “อนุโลม” เป็นกฎที่เปิดโอกาสให้ผู้เสียเปรียบได้แก้ตัว และเมื่อได้โอกาสแล้วผู้เสียเปรียบก็ควรมีสามัญสํานึกไม่ใช้โอกาสนั้นกลับไปเอาเปรียบเพื่อนร่วมก๊วน เช่น การขยับลูกจากรากไม้ก็ขยับเพียงเพื่อเคาะลูกออกไปเล่นต่อในแฟร์เวย์ไม่ใช่ขยับหาจุดดรอปที่มีช่องตีขึ้นไปออนกรีน

     กฎ-กติกา มารยาท ในการพนันกอล์ฟไม่มีสูตรสําเร็จครับ อยู่ที่เราเล่นกับใครและต้องการอะไรจากการเล่นวันนั้น ถ้าเป็นการพนันขันต่อแบบชิงบ้านชิงเมืองการเล่นโลกัณตร์ก็ดูจะเหมาะสม แต่หากเล่นกันขําๆในหมู่เพื่อนฝูง (แบบขอกันกินยังมากกว่า) แนะนําให้ใช้กฎ “อนุโลม” กระชับมิตรกันไปดีกว่าครับ      

เก่ง กฤฎิน สุวรรณบุปผา




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8