คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 7 แก้แบ็คสปินให้หายขาด
เรียบเรียงโดย โปรคิง สมศักดิ์ศรี ส.ศรีสุวรรณ
19 Jan 2017
- Shares:
REDUCING DRIVER BACK SPIN IS THE WAY TO ADD MORE DISTANCE
อัตราแบ็คสปินเป็นสิ่งที่นักกอล์ฟต้องการให้เกิดขึ้นมากๆ ในการตีด้วยเหล็กหรือเวดจ์
แต่สําหรับการตีด้วยไดร์ฟเวอร์แล้ว อัตราแบ็คสปินที่มากเกินไป จะทําให้นักกอล์ฟไดรฟระยะสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการที่นักกอล์ฟสามารถลดอัตราแบ็คสปินให้อยู่ในค่าที่เหมาะสม จะสามารถเพิ่มระยะไดร์ฟได้อย่างน้อย 10-20 หลา
การที่ทีมกอล์ฟเฟอร์ ออนไลน์ได้มีโอกาสวัดวิถีลูกของนักกอล์ฟด้วยเครื่อง Vector Launch Monitor ตามงานต่างๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทําให้ค้นพบว่านักกอล์ฟที่ตีไดรเวอร์ไม่ได้ระยะ ส่วนใหญ่มาจากเรื่องอัตราสปินที่มากเกินไป
หลายๆ ครั้งที่เราแนะนําปัญหาเหล่านี้ไป นักกอล์ฟได้ถามกลับมาว่า แล้วจะไปบอกโปรที่สอนอย่างไรว่า จะตีไดรเวอร์อย่างไรให้มีแบ็คสปินน้อยๆ ในเมื่อโปรที่สอนก็ไม่ได้มีเครื่องมือเหล่านี้ในการตรวจวัดค่าอัตราสปินในการตีด้วยไดรเวอร์
จําได้ว่าครั้งหนึ่งที่เราเคยคุยกับโปรธงชัย ใจดี ซึ่งเคยเดินทางไปศึกษาเรื่องวงสวิงจากหลายๆ สถาบันในต่างประเทศ โปรธงชัยเล่าให้ฟังว่า เทคนิคการสวิงสมัยใหม่จะไม่ใช้ข้อมือในการตีขณะปะทะลูก การตีจะใช้วิธีการหมุนท่อนแขนให้สอดคล้องกับการหมุนของหน้าอกขณะอิมแพ็คจนจบวงสวิง ซึ่งในครั้งนั้นจําได้ว่าเรานําเครื่อง Vector Launch Monitor ไปวัดวิถีลูกของโปรธงชัยด้วย โปรธงชัยสามารถควบคุมอัตราสปินของไดรเวอร์ตัวเองได้ ซึ่งโปรธงชัยสามารถควบคุมถึงขนาดที่สามารถบอกกับเราว่าลูกต่อไปนี้จะตีให้เกิดแบ็คสปินประมาณเท่าไหร่ เช่น 2 พันต้นๆ หรือ หนึ่งพันปลาย หรือ ต่ำสุดๆ พันต้นๆ
บทความนี้เราจึงได้รวบรวมปัญหาการตีไดร์ฟเวอร์ที่สร้างแบ็คสปินให้กับลูกกอล์ฟมากเกินไป และวิธีการฝึกซ้อมเพื่อช่วยในการลดอัตราแบ็คสปิน
เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
อิมแพ็คลูกในลักษณะ Hit Down เป็นหนึ่งในปัญหาที่สร้างแบ็คสปินสูงๆ ในการตีไดรเวอร์
การที่ตีไดรเวอร์แล้วเกิดแบ็คสปินสูงเกินไป จากประสบการณ์สอนของผม มีอยู่ด้วยกัน 3 สาเหตุใหญ่ๆ
1.อิมแพ็คลูกในลักษณะ Hit Down
เท่าที่ผมพบเจอในนักกอล์ฟที่มาหาผม มีอยู่ 2 ลักษณะคือ
1.ตัวยืด
• ที่มาของปัญหา
ในการแบ็คสวิงมีการยึดตัวขึ้น ยกตัวขึ้น ซึ่งลักษณะการสวิงเช่นนี้ จะทําให้ความงอของเข่าสูญเสียไป (ขาดพลังและความแม่นลูกในการดาวน์สวิง) ความเอียงของมุมสันหลังสูญเสียไป แกนสันหลังตั้งตรงขึ้น ทําให้นักกอล์ฟต้องปรับวงสวิงชดเชย เพื่อดาวน์สวิงลงมาให้โดนลูกกอล์ฟ และการที่ความเอียงของมุมสันหลังสูญเสียไปในลักษณะตั้งตรงขึ้น ทําให้นักกอล์ฟต้องดาวน์สวิงในมุมที่ชันลงมา ผลที่ตามมาก็คือการอิมแพ็คลูกในลักษณะ Hit Down
• การแก้ไข
ให้นักกอล์ฟพยายามสวิงในลักษณะให้ท่อนแขนหมุนรอบลําตัว รักษาความงอของเข่าให้เท่าเดิมเหมือนกับตอนที่จรดลูกพร้อมตี และรักษาความเอียงของแนวสันหลังให้คงที่ ไม่มีการยืดขึ้นหรือตกลง ซึ่งนักกอล์ฟอาจจะฝึกสร้างความรู้สึกเช่นนี้ โดยการหาไม้กอล์ฟมาวางให้ขนานกับปลายเท้า ให้เส้นห่างจากปลายเท่าราว 3-4 นิ้ว แล้วฝึกแบ็คสวิงให้แนวไม้กอล์ฟขนานกับไม้กอล์ฟที่วางอยู่ที่พื้น ให้แบ็คสวิงจนไม้กอล์ฟขนานกับแนวก้านแล้วค้างไว้ หลังจากนั้นก็หมุนลําตัวและทําการแบ็คสวิงไปจนถึงจุดสูงสุดของวงสวิง แล้วก็ดาวน์สวิงลงมาตีลูกจริง การฝึกเช่นนี้ อาจทําให้พลังในการตีลูกหายไปบ้างในช่วงแรก อาจทําให้นักกอล์ฟรู้สึกอึดอัด ขอให้อดทนฝึกจนเคยชินกับการสวิงลักษณะนี้ ฝึกฝนจนชํานาญแล้ว.....
ผมเชื่อว่าพลังในการตีลูกจะมากขึ้นกว่าวงสวิงเก่า และใช้แรงน้อยลงด้วย
หมายเหตุ : ในการฝึกวิธีนี้หากจะได้ผล นักกอล์ฟควรหากระจกมาไว้ด้านข้าง หรือซ้อมในเลนของสนามกอล์ฟที่มีบานกระจก เพื่อตรวจสอบแนวเอียงของสันหลัง ความงอของเข่า และแนวไม้กอล์ฟว่าขนานกับแนวก้านที่วางบนพื้นหรือไม่ เมื่อฝึกฝนจนเคยชินแล้ว ให้ถ่ายวิดีโอเปรียบเทียบกับสวิงเก่าดู หากสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้แล้ว ก็ไม่จําเป็นต้องเอาก้านมาวางเป็นแนวที่พื้น
2. นักกอล์ฟโถมตัวไปข้างหน้ารุนแรงและมากเกินไป
• ที่มาของปัญหา
ปัญหานี้เกิดจากนักกอล์ฟมีการโถมตัวไปข้างหน้ามากเกินไปขณะดาวน์สวิง ซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่นความตั้งใจในการถ่ายน้ำหนักไปที่เท้าซ้ายมากเกินไป ขณะดาวน์สวิง (สําหรับคนสวิงด้านขวา) ลักษณะเช่นนี้จะทําให้แนวศูนย์กลางของวงสวิงเปลี่ยนไป และแม้ว่านักกอล์ฟที่มีการจรดลูกที่ถูกต้อง จัดท่าทางการยืนเพื่อสวิงให้ลักษณะเสยแล้ว แต่ถ้าแนวศูนย์กลางของสวิงเปลี่ยนไปอยู่ที่ซีกซ้ายแล้ว ลักษณะนี้ก็จะบังคับให้นักกอล์ฟดาวน์สวิงในลักษณะ Hit Down ลงมา
• การแก้ไข
ในการถ่ายน้ำหนักมาที่เท้าซ้ายนั้น ไม่มีความจําเป็นต้องเน้นขนาดนั้น ฝึกการรักษาแนวศูนย์กลางของวงสวิงไม่ให้ถาโถมมาข้างซ้ายมากเกินไป โดยการนําหัวไม้หนึ่งมาตั้งไว้ตรงหน้าบริเวณเท้าซ้าย ยืดแขนออกไปข้างหน้าและนํามือซ้ายวางลงบนด้านหัวของไม้ให้กริพปักลงที่พื้น ใช้มือขวาถือลูกกอล์ฟในลักษณะผ่อนคลาย ฝึกขว้างลูกกอล์ฟโดยให้มือขวาลอดผ่านใต้มือซ้าย โดยการเคลื่อนที่ในลักษณะเสมือนกําลังแบ็คสวิงและดาวน์สวิง โดยให้แขนซ้ายที่วางบนไม้กอล์ฟยังคงความตรง ไม่งอ หรือไม่เอียงไปด้านซ้ายมากขึ้น การทําเช่นนี้ นักกอล์ฟจะสังเกตว่ามีการถ่ายน้ำหนักไปที่เท้าซ้ายได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการโถมตัวที่มากเกินไป หากลองซ้อมกับกระจกจะเห็นว่าลักษณะการอิมแพ็คเช่นนี้จะละหม้ายคล้ายคลึงกับวงของโปรกอล์ฟชื่อดังทั้งหลาย
2.หน้าไม้เปิดเมื่อเทียบกับ Swing Path ขณะอิมแพ็คลูก
ทําให้เกิด Side Spin และ Back Spin
คําว่าหน้าไม้เปิดในการสวิงนั้น เราจะต้องเปรียบเทียบกับแนวสวิงของนักกอล์ฟด้วย เวลาที่เราถ่ายถาพหรือถ่ายวิดีโอมาดูนั้น การที่หน้าไม้เปิดนั้น ไม่จําเป็นว่ากล้องจะต้องถ่ายแล้วมองเห็นหน้าไม้ ภาพที่หน้าไม้สแควร์ขณะถ่ายภาพ อาจจะเป็นการสวิงในลักษณะหน้าไม้เปิดก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูแนวสวิงก่อนเข้าปะทะลูกว่าเป็นอย่างไร ถ้าภาพที่ถ่ายเห็นหน้าไม้สแควร์กับเป้าหมาย แต่แนวสวิงของเราเป็นแบบ out Side in ลักษณะของหน้าไม้นี้ก็จะเป็นแบบหน้าไม้เปิด ฉะนั้นคําว่าหน้าไม้เปิด ปิด หรือสแควร์นั้น ขอให้ยึดเอาแนวของสวิง (Swing Path) มาพิจารณาประกอบด้วย
การสวิงในลักษณะหน้าไม้เปิดเมื่อเทียบกับแนวสิวงที่ผมเจอปัญหาบ่อยๆ มี 2 ลักษณะ
หน้าเปิดแบบที่ 1
. มีความพยายามมากเกินไปในการที่จะรักษาหน้าไม้ให้สแควร์กับเป้าหมายนานที่สุด
• ที่มาของปัญหา
ลักษณะการสวิงเช่นนี้จะเหมือนท่อนแขนถูกบล็อคเอาไว้ชั่วคราวขณะอิมแพ็คและฟอล์โลว์ทรู เกิดจากความตั้งใจมากเกินไปในการรักษาหน้าไม้ให้สแควร์กับเป้าหมายยาวนานที่สุด ภาพการสวิงลักษณะนี้ เวลาที่ถ่ายจากด้านหน้า ดูเหมือนจะดี แต่ถ้าถ่ายจากด้านข้างการสวิงลักษณะนี้หน้าไม้จะเปิด ทําให้วิถีลูกพุ่งออกขวาหรือพุ่งตรงๆ และบานขวา
• การแก้ไข
นักกอล์ฟต้องทําความเข้าใจก่อนว่า การพยายามรักษาหน้าไม้ให้สแควร์ยาวนานขนาดนั้นไม่ได้ช่วยทําให้ตีได้ตรงขึ้น การสวิงไปตามวงปกติอย่างถูกวิธี หน้าไม้ก็สามารถสแควร์กับเป้าหมายได้ยาวนานเพียงพออยู่แล้ว การฝึกขอให้นักกอล์ฟฝึกสวิงครึ่งวงก่อน
โดยการฝึกให้นักกอล์ฟจับกริพในลักษณะคล้ายเบสบอลกริพ โดยแยกมือทั้งสองข้างในการจับกริพให้ห่างกัน (Split Hand)
หลังจากนั้นฝึกสวิงให้ท่อนแขนซ้ายและขวามีการหมุน (Arm Rotation) ขณะอิมแพ็คและฟอล์โลว์ทรู ฝึกฝนให้เกิดความเคยชิน ปล่อยให้แขนมีการหมุนไปตามธรรรมชาติ ซึ่งน้ำหนักของหัวไม้จะนําพาให้การหมุนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องฝืนต้องเกร็ง เมื่อนักกอล์ฟฝึกจนเคยชินแล้ว ในช่วงแรกๆ ขอให้สวิงด้วยความนุ่มนวล ออกแรงสวิงสัก 50-60 % โดยสวิงให้ท่อนแขนมีการหมุนตามที่ฝึก ทําจนเคยชินและแน่ใจค่อยเพิ่มแรงสวิงจนเป็นปกติ จะได้ผลเร็วกว่าที่เริ่มสวิงจริงก็ใส่กันเต็มร้อยเลย
หน้าไม้เปิดแบบที่ 2.
การสวิงในลักษณะหมุนลําตัวเร็วจนเกินไป ทําให้แขนไล่ไม่ทัน
• ที่มาของปัญหา
ปัญหานี้เกิดจากนักกอล์ฟมีการใช้ลําตัวช่วงบนมากเกินไปในการเหวี่ยง และเริ่มใช้ลําตัวช่วงบนในการเหวี่ยงเร็วเกินไป ทําให้แนวของไม้เดินทางจากนอกเข้ามาด้านในขณะดาวน์สวิง หรือบางครั้งเกิดจากความพยายามในการแก้ไขวิถีลูกที่ออกขวา โดยการพยายามสวิงให้แนวสวิงไปทางซ้าย เพื่อหวังให้ลูกตรงขึ้น
• การแก้ไข
ให้นักกอล์ฟฝึกการเริ่มต้นแบ็คสวิงโดยการขับเคลื่อนช่วงล่างก่อนขณะดาวน์สวิง ให้สไลด์เข่าไปในแนวขนานกับเป้าหมาย พร้อมๆ กับการปล่อยแขนลงมาตามแนวโน้มถ่วงของโลก หลังจากนั้นก็สวิงไปตามปกติ การสวิงลักษณะนี้ให้ทําอย่างนุ่มนวล ไม่ต้องเร่งรีบ พลังของการขับเคลื่อนช่วงล่างจะนําพาให้ไม้ตกลงมาเอง และทำให้เราสวิงไปตามแนวที่ถูกต้องอย่างมีพลัง
และสําหรับนักกอล์ฟที่ตั้งใจสวิงไปทางซ้าย เพื่อแก้ไขวิถีลูกที่บานขวา การแก้ไขครั้งนี้ นักกอล์ฟอาจจะต้องคิดในทางกลับกัน คือให้สวิงไปทางด้านขวาในลักษณะ Inside Out ข้อสําคัญให้เริ่มต้นสวิงจากช่วงล่างก่อน และขอให้ฝึกควบคู่กับการหมุนท่อนแขน (Arm Rotation) ที่กล่าวไว้ด้านบน ถ้าทําอย่างถูกต้องนักกอล์ฟจะพบว่าการสวิงไปทางด้านขวานี้ ลูกกอล์ฟจะไม่ได้เลี้ยวไปทางขวา แต่จะพุ่งไปทางขวาและเลี้ยวกลับเข้ามาทางซ้าย
3.หน้าไม้เกิดการเปลี่ยนองศาหน้าไม้อย่างฉับพลัน
การคลายข้อมือเร็วเกินไป
• ที่มาของปัญหา
ปัญหาตรงนี้เกิดจากการสวิงในลักษณะใช้ข้อมือช่วยควักลูกขณะอิมแพ็ค เพื่อให้ลูกกอล์ฟลอยออกจากหน้าไม้ เรื่องนี้เกิดจากความเข้าใจผิดในวิธีการสวิงในลักษณะเสย ซึ่งนักกอล์ฟจะพยายามใช้ข้อมือในการสวิงเพื่อเสยลูกกอล์ฟให้ลอยออกไปในอากาศ เมื่อนักกอล์ฟมีความคิดอย่างนี้ก็จะมีการสวิงในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะเสยลูกกอล์ฟ โดยการคลายข้อมือออกมาเร็ว เพื่อตั้งใจที่จะช้อนลูกให้ลอยออกไปในอากาศ นักกอล์ฟบางคนอาจมีปัญหานี้ เนื่องจากพยายามสวิงให้ศอกขวาแนบกับสีข้างของลําตัวมากเกินไป พอแนบบสีข้างมากๆ ช่องว่างในการสวิงก็จะติดขัด ก็จะนํามาซึ่งการคลายข้อมือเร็วเกินไปได้เหมือนกัน ทั้งหมดนี้จะทําให้หน้าไม้กระทบลูกในลักษณะที่องศาหน้าไม้สูงกว่าปกติ และเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทําให้เกิดอัตราสปินขึ้นมาก
• การแก้ไข
ฝึกการรักษามุมของข้อมือเอาไว้ให้ถึงช่วงระดับเอวก่อนที่จะคลายออกมา
นักกอล์ฟที่คลายข้อมือเร็วเกินไปมักจะมีการคลายข้อมือก่อนที่ไม้กอล์ฟจะเดินทางมาถึงระดับเอว ในการฝึกซ้อมให้นักกอล์ฟซ้อมโดยการปล่อยให้ข้อศอกขวาเคลื่อนตัวลงมาอยู่ที่หน้าตัว ไม่ต้องพยายามหนีบศอกขวาให้อยู่ข้างลําตัว การซ้อมในลักษณะนี้ให้พยายามรักษามุมของข้อมือให้คงอยู่ไว้ด้วย หลังจากนั้นนักกอล์ฟก็เพียงแต่หมุนลําตัวพร้อมๆ กับการคลายข้อมือไปตามธรรมชาติ อาการคลายๆ ข้อมือเร็วเกินไปก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นการฝึกซ้อมควรทําด้วยความนุ่มนวลละมุ่มละมัยจะช่วยให้นักกอล์ฟเปลี่ยนลักษณะสวิงได้เร็วขึ้น และหากซ้อมสวิงในลักษณะนี้พร้อมๆ กับการเริ่มต้นดาวน์สวิงด้วยช่วงล่าง จะช่วยการฝึกในส่วนนี้ได้มากทีเดียว
ในเรื่องการเพิ่มองศาหน้าไม้อย่างฉับพลันขณะอิมแพ็ค บางครั้งอาจเกิดจากนักกอล์ฟฝีมือดีที่ต้องการเลี้ยงหน้าไม้ให้แหงนขึ้นฟ้าหลังจากอิมแพ็คแล้ว ลักษณะนี้ข้อมือซ้ายจะมีการหักพับเล็กน้อย องศาหน้าไม้จึงเพิ่มขึ้น
ซึ่งการแก้ไขอาจใช้วิธีเดียวกับปัญหาการพยายามรักษาหน้าไม้ให้สแควร์นานที่สุดโดยนักกอล์ฟฝึกสวิงให้มีการหมุนท่อนแขน (ARM ROTATION) ขณะสวิงผ่านปัญหาของวงสวิงที่กล่าวมานั้น จริงๆ แล้วอาจจะเกิดขึ้นจากปฎิกิริยาลูกโซ่ หมายความว่า ถ้าเกิดปัญหาเรื่องหนึ่งๆ อาจจะลุกลามไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่นปัญหาเพียงเรื่องเดียว อาจจะสร้างปัญหาให้กับหัวข้อต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งสามเรื่องได้ และการแก้ปัญหาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็อาจจะไม่เพียงพอกับการแก้ไขวงสวิงให้ถูกต้อง
บทความที่อธิบายข้างต้นนี้ เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเฉพาะจุดเท่านั้น ถ้าจะให้ดีนักกอล์ฟควรเริ่มฝึกสวิงอย่างถูกวิธี โดยมีโปรให้คําแนะนํา และอ่านตําราเกี่ยวกับพื้นฐานวงสวิงควบคู่กันไป จะทําให้ปัญหาในการสวิงของนักกอล์ฟลดลงไปได้มาก
และเมื่อพื้นฐานของสวิงเราดีแล้ว บางครั้งการแก้ปัญหาเพียงจุดเดียว อาจจะปลดล็อคทุกปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปคอยแก้ปัญหาทีละจุด ทีละเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องใช้เวลาแก้ไขไม่น้อยเลย ขอให้นักกอล์ฟโชคดีครับ
อ่านคัมภีร์ไดรฟไกลตอนก่อนหน้านั้น คลิ๊ก
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 1
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/1
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/2
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/3
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/4
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/5
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 2/6
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 3
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 4/1
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 4/2
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 5
คัมภีร์ไดรฟไกลตอนที่ 6
โปรคิง สมศักดิ์ศรี ส.ศรีสุวรรณ
ติดต่อเรียนกอล์ฟกับโปรคิง กดปุ่มสีเขียว โทรออกด้านล่าง
Tags : ตีไกล , ไดรฟ 300 หลา , เทคนิคตีไกล , ไดรเวอร์ , Driver , Drivers , Wood , Woods , หัวไม้ , หัวไม้ 1 , FlightScope , LongestDrive , Longest Drive , Long Drive , LongDrive Power PowerTips Power Tips PowerTip PowerTip