ตีเข้าธง อย่างเฉียบคม เมื่อรู้นิสัยของลม
เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
05 Sep 2016
- Shares:
หากคุณอยากรู้เทคนิคการเล่นกับลม คุณก็ต้องหาความรู้กับคนที่เล่นกับลมเก่งๆ เหมือนเวลาที่เรากำลังศึกษาศาสตร์ของการตีเทนนิส ถ้าเป็นคอร์ดดิน ต้องยกให้ราชาคอร์ดดิน ราฟาเอล นาดาล แชมป์เฟรนช์โอเพ่น 9 สมัย แต่ถ้าเป็นราชาคอร์ดหญ้าก็ต้อง พีท แซมพราส และโรเจอร์ เฟดเดอร์เรอร์ กดไปคนละ 7 สมัย
ส่วนเรื่องของกอล์ฟ ราชาแห่งลม ต้องยกให้ทอม วัตสัน แชมป์ดิโอเพ่นไปถึง 5 สมัย
แต่ก่อนที่จะเข้าเรื่องการเล่นกับลม เราควรมีความรู้เรื่องหนึ่งให้เรียบร้อยก่อน ว่าลมที่แรง ๆ ความแรงระดับไหนมีผลกับลูกของเรา และความแรงนั้นๆ เราจะรู้ได้อย่างไรครับ
ในหนังสือ How Golf Clubs Really Work and How to Optimize Their Design ที่เขียนโดยวิศวกรรมอากาศชาวสหรัฐ Frank D.Werner และ Richard C. Greig ได้ทำตารางสังเกตความเร็วลมไว้ดังต่อไปนี้
ตารางข้างบนนี้คือตารางที่ผมเขียนลงใน Pocket Book ไว้ตั้งแต่ ปี 2552 ซึ่ง ณ ปีนั้นๆ ก็ยังแอบมีความสงสัยในใจอยู่เหมือนกันว่า จริงเท็จมากน้อยขนาดไหน จนบางช่วงถึงขนาดอยากไปซื้อเครื่องวัดความเร็วลมให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย จนเมื่อเดือนที่แล้ว ผมบังเอิญไปหาพี่จักรแล้วมีลูกค้าพี่จักร ชื่อคุณ watchara ทิ้งเครื่องวัดความเร็วลมไว้ที่ร้าน จึงขอยืมมาเพื่อมาวัดความเร็วลม ซึ่งผลของการวัดความเร็วลมนั้น ยังสอดคล้องกับตารางที่ผมเขียนไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่มันมีจุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมสังเกตเห็นจากการไปทดสอบความเร็วลมในครั้งนี้
www.wdhavepatana.com
ในการทดสอบผมใช้เวลาทดสอบอยู่ 3 ครั้ง 3 วัน ที่สนามกอล์ฟบางไทร คันทรีคลับ โดยนำเครื่อง FlightScope Xi+ ไปใช้ทดสอบด้วย และได้รับการสนับสนุนลูกกอล์ฟ Pro V1x ( Practice) จาก Titleist โดยมีผู้ร่วมทดสอบเป็น โปรสบง โปรตั้ม และ โปรคิว อีก 2 วันผมไปทดสอบที่สนามอิมพีเรียล เลควิว ผลการทดสอบผมสังเกตข้อมูลตัวเลขที่มีนัยสำคัญต่อไปนี้
1. เราจะรู้สึกถึงแรงลมที่พัดผ่านเข้าหน้า เมื่อความเร็วลมเริ่มต้นที่ความเร็ว 4-7 MPH โดยประมาณ
2.ธงหลุมจะเริ่มกางใบออก เมื่อลมมีความเร็วอย่างน้อย 5 MPH แต่จะเป็นลักษณะกางๆ หุบๆ ไม่ได้แผ่เต็มใบจนผ้าตึง
3.ธงหลุมจะกางใบออกตลอดเวลา แล้วโบกสะบัดไปมา ไม่เหี่ยวลง ที่ความเร็วตั้งแต่ 9 MPH เป็นต้นไป
4.ผมจะเริ่มรู้สึกว่าลมแรง จนต้องยกเครื่องวัดความเร็วลม ขึ้นมาวัดความเร็วลม เมื่อมีความเร็วลมตั้งแต่ 6 MPH เป็นต้นไป
5.ความเร็วลมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่คงที่เป็นเวลานาน เช่น ระหว่างช่วงที่วัด ความเร็วเฉลี่ย โดดไปโดดมาระหว่าง 3-9 MPH ตลอดเวลา บางครั้งมีลมกรรโชกแรงๆ เข้ามา เช่นความเร็วสูงกว่า 12 MPH ระยะเวลาที่คงความเร็วสูงกว่า 12 MPH มีเพียงไม่เกิน 30 วินาที เป็นต้น
6.ความเร็วลมของพัดลม ที่เป่ามาที่หัวเราที่อยู่ห่างไม่เกิน 1 เมตร เปิดเบอร์ 1 ความเร็วลมประมาณ 6 MPH เบอร์ 2 ความเร็วลมประมาณ 8 MPH เปิดเบอร์ 3 ความเร็วลมประมาณ 10 MPH
7.ความเร็วลมของพัดลมอุตสาหกรรมของ Hatari ยืนห่าง 1 หลา เปิดเบอร์ 1 ความเร็วลม 15 MPH เปิดเบอร์ 2 ความเร็วลม 17 MPH เปิดเบอร์ 3 ความเร็วลม 20 MPH ถ้าเปิดเบอร์ 1 ยืนห่าง 2 หลา ความเร็วลม 10 MPH ยืนห่าง 3 หลา ความเร็วลม 6 MPH
นอกเหนือจากการสังเกตลมจะสิ่งต่างๆ และความรู้สึกของลมที่เข้าปะทะหน้าแล้ว การโปรยเศษหญ้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นักกอล์ฟใช้กันประจำ เท่าที่ผมลองโปรยเศษหญ้าแล้ววัดหาความเร็วลมได้ดังนี้
1.ความเร็วลม 5 MPH เศษหญ้าลอยออกไปห่างตัวไม่เกิน 5 หลา
2.ความเร็วลม 10 MPH เศษหญ้าลอยออกไปห่างตัว 5 หลาขึ้นไป แต่ไม่เกิน 8 หลา
3.ความเร็วลม 12 MPH เศษหญ้าลอยออกไปห่างตัว 10 หลาขึ้นไป
** 3 วันที่ไปวัด ยังไม่มีวันไหนที่มีความเร็วลมขึ้นไปแตะระดับ 15 MPH
เมื่อเรารู้ความเร็วของลมแล้ว เราะเผื่อระยะการตีกันอย่างไร ตารางต่อไปนี้ เป็นตารางเผื่อระยะการตีของหัวไม้ 1
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขตามตารางข้างบนนั้น เป็นตารางที่ให้ค่าที่เป็นกลางๆ นักกอล์ฟบางคนอาจเผื่อมากหรือน้อยกว่านี้ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลการตีของนักกอล์ฟแต่ละคน โดยที่เราจะต้องมีพื้นฐานความรู้ดังต่อไปนี้
การตีทวนลม
ความเร็วลมที่สวนทางกับความเร็วลูกกอล์ฟ ทำให้ความเร็วสัมพัทธ์ของลูกกอล์ฟเทียบกับลมมากขึ้น จะทำให้เกิดแรงเสียดทานบนลูกกอล์ฟมากขึ้น และเกิดแรงยกตัวที่ลูกกอล์ฟมากขึ้น (มากเกินความจำเป็น) เมื่อตีที่มุมเหินปกติ ลูกกอล์ฟจะถูกแรงยกตัวเปลี่ยนมุมเหินให้ค่อยๆ ชันขึ้น เชิดขึ้น จนเมื่อถึงจุดหนึ่ง มุมที่เปลี่ยนไปจะชันขึ้นจนลูกกอล์ฟสู้ลมไม่ไหว และหมดแรง ตกสู่พื้นในแนวดิ่ง
จากความรู้เรื่องนี้ หากเราเจอสถานการณ์ตีทวนลม หากเราตีด้วยวิธีการปกติ ลูกกอล์ฟจะถูกยกให้ลอยขึ้น เชิดขึ้น จนสู้ลมไม่ไหว และตีเสียระยะทาง ดังนั้นวิธีการที่จะไม่ทำให้ลมมีผลกับระยะของเรามากนัก คือ การลดอัตราสปินให้น้อยลง เพื่อลดแรงเสียดทานอากาศ และลดแรงยกตัวที่มากเกินไป และยังต้องตีให้วิถีต่ำลง เพื่อให้สู้กับลมได้ดี และแม้ว่าลูกกอล์ฟจะเกิดแรงยกตัว ยกให้ลูกลอยขึ้น เชิดขึ้น ก็จะไม่สามารถยกจนวิถีพุ่งของลูกชันเกินไปจนสู้ลมไม่ไหว
เทคนิคการตีเวดจ์ทวนลมของทอม วัตสัน บอกว่า เวดจ์องศา 56 ปกติ เขาตีได้ระยะ 90 หลา แต่เมื่อเจอลมทวน 10 MPH เขาจะใช้เวดจ์ 52 ถ้าเจอลมทวน 20 MPH เขาจะใช้ PW แต่ถ้าเป็นลมทวนแรงๆ กว่านั้น อาจใช้ถึงเหล็ก 9 เป็นต้น
ฉะนั้นเมื่อเจอสถานการณ์ตีทวนลม นักกอล์ฟที่สามารถลดสปินได้ ตีให้ลูกพุ่งต่ำได้ จะเผื่อระยะในการตีน้อยกว่า นักกอล์ฟที่ตีไฟล์ทบอลปกติ ในการทดสอบนักกอล์ฟระดับหัวกะทิในทีมช้าง ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์ พบว่าที่ความเร็วลม 6-9 MPH ระยะ 156 หลา หากตีไฟล์ทบอลปกติ อาจต้องเผื่อเหล็กราว หนึ่งเบอร์ถึงเบอร์ครึ่ง แต่หากลองกดไฟล์ทให้ต่ำ สวิงนุ่มนวล ลดสปินลง สามารถเผื่อแค่ครึ่งเบอร์เท่านั้น
การตีตามลม
ความเร็วลมที่พัดตามความเร็วลูกกอล์ฟ ทำให้ความเร็วสัมพัทธ์ของลูกกอล์ฟเทียบกับลม น้อยลง จะทำให้เกิดแรงเสียดทานบนลูกกอล์ฟน้อยลง แต่ก็จะทำให้แรงยกตัวที่ลูกกอล์ฟน้อยลงด้วย เมื่อตีที่มุมเหินปกติ ไฟล์บอลจะค่อยๆ ต่ำลง ทำให้ระยะแครี่สั้นลง แต่เนื่องจากแรงเสียดทาบนลูกกอล์ฟน้อยลงด้วย เมื่อหักลบ กันแล้ว ระยะทางที่ตีได้จากการตีตามลม จะไกลขึ้น แต่ไม่ได้ไกลขึ้นมากเมื่อเทียบกับระยะที่หายไปเมื่อตีทวนลม เช่นที่ความเร็วลมเดียวกัน เมื่อตีทวนลมระยะอาจหายไป 20 หลา แต่เมื่อตีตามลม ระยะที่เพิ่มขึ้นจะน้อยกว่า 20 หลาเป็นต้น (นักกอล์ฟบางคนอาจทำระยะจากการตีตามลมได้เพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งของระยะที่หายไปเมื่อตีทวนลม ที่ความเร็วลมเดียวกัน)
จากความรู้เรื่องนี้ เมื่อต้องตีตามลม เราสามารถเพิ่มมุนเหินของลูกกอล์ฟให้สูงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย จะช่วยทำให้เราตีตามลมได้ระยะทางที่ไกลขึ้น
การตีขวางลม
ตามตำราของแจ็ค นิคคลอส เล่มที่ชื่อว่า Lesson Tee แจ็คบอกว่า มี 2 เทคนิคในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ขวางลม บางสูตรก็บอกให้สู้กับลมไปเลย เช่น ตีดรอว์ใส่ลม เมื่อเจอลมขวางจากซ้ายไปขวา และตีเฟดสู้ลม เมื่อเจอลมขวางจากขวาไปซ้าย แต่อีกสูตรบอกว่า ให้เล่นลูกให้ไปกับลมเท่าที่จะทำได้ โดยการเล็งเผื่อไปตามทิศทางที่ลมพัดมา แล้วปล่อยให้ลมหอบลูกเข้าไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการตีไป ในตำราแจ็ค นิคลอสบอกว่า สำหรับตัวเขาเองนั้นมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ เวลานั้นๆ แต่โดยปกติแล้ว แจ็คบอกว่า เขาจะใช้ประโยชน์จากลมแทนที่จะสู้กับมัน เช่นเมื่อเจอลมจากซ้ายไปขวา เขาก็จะเล็งไปทางซ้าย แล้วตีไปทางซ้ายให้ลมหอบเข้ามา เช่นเดียวกับ ทอม วัตสัน ราชาแห่งลม ก็จะเล็งเผื่อเช่นกัน เช่น เมื่อเจอสถานการณ์ลมจากขวาไปซ้าย ทอมวัตสันจะเล็งไปที่ขอบกรีนด้านขวา แล้วปล่อยให้ลมพัดลูกเข้าหาหลุม แต่ทอม วัตสัน แอบใส่เทคนิคการตีลงไปเล็กน้อย เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เมื่อตีขวางลม เวลาที่ลูกกอล์ฟตกบนกรีนจะเด้งแล้วพลิกไปตามทิศทางของลม ในการตีขวางลมขวาไปซ้าย ทอม วัตสัน แอบใส่สปินให้ลูกเฟดเล็กน้อย เพื่อให้เวลาลูกตกแล้วกระดอนเข้าหาหลุมใน ทอม วัตสันบอกว่า ลมจากขวามาซ้าย หรือซ้ายมาขวา บางครั้งที่ความเร็วลมเดียวกัน ลมจะหอบให้ลูกออกจากเป้าหมายด้วยระยะทางแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิถีลูกตามธรรมชาติของคุณ เรื่องนี้นักกอล์ฟต้องลองฝึกฝนและสังเกตกันเองว่า ลมที่พัดจะมีผลกับวิถีลูกของตัวคุณเองมากน้อยขนาดไหน
หาระยะเผื่อสำหรับสไตล์การเล่นของตัวเอง
จากที่ผมอ่านเคล็ดลับการเล่นของสุดยอดนักกอล์ฟระดับโลกที่แนะนำการเล่นกับลม มันไม่ได้มีสูตรตายตัวแบบคณิตศาสตร์ ว่าลมเท่านี้จะต้องเผื่อเท่าไหร่เป็นตัวเลขเป๊ะ สุดยอดโปรแต่ละคนแนะนำให้นักกอล์ฟลองฝึกซ้อม แล้วค้นหาระยะที่ต้องเผื่อกันเอง โดยเฉพาะ แฮร์รี่ วาร์ดอน ราชาแห่งลมอีกคนนึง เจ้าของสถิติแชมป์ดิโอเพ่น 6 สมัย ก็เป็นโปรอีก 1 คนที่ทำการทดสอบวิธีการตีสู้กับลมหลากหลายวิธี เช่น ลมขวางจากซ้ายไปขวา เขาลองซ้อมตีทั้งตีวิถีตรงเผื่อซ้าย ดรอว์หรือเฟดเข้า เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุด แต่เทคนิคของแฮร์รี่ วาร์ดอน ผมไม่ได้นำมาใส่ไว้ เนื่องจากเทคโนโลยีลูกกอล์ฟในสมัยนั้น ยังไม่มีความเป็น Aerodynamics เท่ากับลูกกอล์ฟในยุคปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามเขาก็แนะนำให้นักกอล์ฟแต่ละคนฝึกซ้อมและทดลองหาระยะเผื่อที่เข้ากับสไตล์การตีของตัวเอง
การหาระยะเผื่อในการเล่นกับลม ผมได้ไอเดียมาจากโปรก้อง วุฒิรัตน์ มณีอินทร์ ให้ลองสังเกตระยะของเศษหญ้าที่ปลิวห่างออกจากตัว เช่น ถ้าโปรยเศษหญ้าสูงระดับสุดแขน ถ้าเศษหญ้าลอยไปตกพื้นห่างออกจากตัว 5 หลา ก็เผื่อ 5 หลา ถ้า 10 หลา ก็เผื่อ 10 หลาเป็นต้น แต่โปรก้องกำชับว่า เศษหญ้าที่โปรยต้องเป็นหญ้ามีแต่ใบ ห้ามมีรากผสมมาด้วย จะทำให้หนักและอาจลอยห่างตัวสั้นกว่าเดิม เวลาโปรยระวังอย่าให้ตัวไปขวางทิศทางของลมด้วย
ไอเดียของโปรก้องนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่นักกอล์ฟนำไปใช้กันดูก็ได้ เช่นก่อนที่จะตีในแต่ละช็อตที่เราคิดว่า ความเร็วลมปะทะเข้าหน้าแรงระดับนึง ลองดึงเศษหญ้า และโปรยหญ้าที่ระดับความสูงหนึ่งๆ (ให้ใช้ความสูงนี้ทุกครั้ง) สังเกตว่าหญ้าลอยไปตกพื้นห่างตัวเท่าไหร่ แล้วลองคำนวณการเผื่อเหล็กดู ลองทำทุกครั้ง จดระยะที่เศษหญ้าปลิวห่างออกตัว ระยะที่เผื่อถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง ต้องเผื่อเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเท่าไหร่ จดลงสมุดไปเรื่อยๆ จนวันนึงเมื่อเราทายถูกทุกครั้ง และเกิดการตกผลึก แสดงว่าประสบการณ์เราถึงแล้ว พร้อมที่จะเป็นราชาแห่งลมคนต่อไปครับ
หมายเหตุ : บางครั้งตำแหน่งที่แท่นทีออฟ มีอะไรมาบังลมไว้ให้เรารู้สึกถึงลมน้อยลง เช่น ภูเขาขนาบซ้าย ขวา แต่ที่กรีนเป็นช่องลม ต้นไม้สูงบัง ซ้าย ขวา หน้าหลัง เราอาจต้องสังเกตสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย เช่นใบธง ยอดต้นไม้ หรือ ถ้าต้นไม้บังทางแค่ไม่กี่ต้น ก็ลองขยับไปหาช่องว่างๆ ที่ลมผ่านได้ เพื่อเช็คทิศทางลม หรือดูวิถีลูกของเพื่อนในก๊วนที่ทีออฟก่อนเรา ทั้งนี้ทั้งนั้นการเป็นคนที่ช่างสังเกตจะทำให้เราเป็นราชาแห่งลมได้ในที่สุดครับ
เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
Chalermwong B.Kajorn
ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.
6 / 9 /2559
https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/
Official Line : @golferonline
Tags : Instruction Technique สวิง เรียนกอล์ฟ สอนกอล์ฟ Wind Crosswind Tailwind Tail Headwind Head