ข้าพเจ้า...จะต้องเป็น แชมป์ ตีไกล
เรียบเรียงโดย โปรเชน สหรัฐ มานิตยกุล
27 Aug 2016
- Shares:
ตอนเด็กผมเป็นนักกอล์ฟที่ตีระยะสั้นมากจนเพื่อนล้อทุกครั้งที่เจอเพราะตีเหล็ก 7 ระยะอยู่แค่ 110 หลาเท่านั้น
เพื่อนๆ ก็ แซวเล่นตามภาษาเด็กอายุ 13 ปี แต่ตอนนั้นต้องบอกตรงๆ ว่ามัน เจ็บ ! เพราะผมเหมือนเด็ก 13 ปี ที่โตเต็มวัย ตัวก็ใหญ่กว่าเด็กคนอื่นๆ แต่กลับตีสั้นกว่าชาวบ้านเขาถึง 50-60 หลา ท้อจนผม เบื่อกอล์ฟไปพักหนึ่งและแอบคิดตลอดว่าอยาก เลิกเล่น ซึ่งนั่นคือทางแยกแรกที่เกิดขึ้นในชีวิตผม
เราจะเลือกเอาชนะมัน หรือ เดินหนีมันไป.....
ท้ายสุด ผมเลือกจะลองสู้กับปมด้อยนี้สักตั้ง ด้วยเหตุผลเดียวว่า ผมอยากพิสูจน์ตัวเองให้กับคนที่ล้อผมเห็นว่า สักวันผมจะต้องตีไกลกว่าพวกเขาเหล่านั้น
ผมจึงเอาสมุดปกแข็งของโรงเรียนสามเสน เล่มใหม่เอี่ยม เขียนไว้ที่หน้าแรกว่า “ข้าพเจ้า...จะต้องเป็น แชมป์ ตีไกล” เพื่อผมจะได้จดบันทึกเทคนิคทุกอย่างที่จะเจอต่อจากนั้นเป็นต้นไป นั่นคือคํามั่นสัญญาแรกที่เกิดขึ้นในชีวิตเด็กชายอายุ 13 ปี ผมใช้เวลาหมกมุ่นอยู่ตลอดหลายเดือน เพื่อค้นหาว่าอะไรที่จะทําให้ผมตีไกลขึ้น แต่มันก็เหมือนกับการ งมเข็มในมหาสมุทร เพราะ เมื่อ 20 ปี ก่อน แทบไม่มีตําราเล่มไหนเขียนถึงการเพิ่มระยะไว้เลย ตํารากอล์ฟส่วนใหญ่ที่คุณพ่อ ผมซื้อมาให้อ่านก็เป็นตําราสอน เบสิคสวิง ให้มีสวิงที่ดีและสวยงาม เท่านั้น ผมจึงตัดสินใจ ไปหาคําตอบด้วยการทดลองซ้อม ด้วยตัวเองในสนาม
การทดลองครั้งที่ 1 (ตีให้แรงที่สุด) “พยายามตีเข่นเต็มที่” ผลลัพธ์ที่ได้คือ ระยะเหล็ก 7 ขึ้นมาจาก 110 หลา เป็นเหล็ก 115 หลา | อะไรกัน.....ตีแรงขนาด นี้ได้มาอีกแค่ 5 หลา !!!!!!! เหมือนกับอ่านหนังสือสอบแบบเอาเป็นเอาตาย แต่คะแนนดีขึ้นมานิดเดียว แถมยังสอบตกอยู่ดี
วินาทีนั้น เลยทําให้ผมรู้ว่า การตีแรง ไม่ใช่ หนทางของระยะที่ดีแน่นอน ณ.เวลาแห่งการหาคําตอบเรื่องระยะ ผมก็เริ่มดูวงสวิงโปรในทีวี ว่าทําไมคนนี้ถึงตีไกล พยายามเลียนแบบทุกอย่าง แต่ก็ยังมองไม่เห็นในสิ่งที่โปรเหล่านั้นมีมากกว่าเรา เพราะแบ๊คสวิง แขนผมก็ขึ้นไปเหมือนเขา จบวงผมก็จบวงเหมือนเขา แล้วทําไมโปรในทีวีตีไกลกว่าผมเป็น 100 หลา ?
จนวันหนึ่งแม่ลากผมไปสวนจตุจักร เพื่อเก็บเงินค่าแผงที่แม่ปล่อยให้เช่าซึ่งปกติแล้ว แม่จะเก็บเงินเสร็จแล้วกลับบ้านเลย แต่วันนั้นแม่กลับติดใจมรกตร้านเฮียเม็ง (ร้านประจําแม่) ส่องอยู่หลายชั่วโมง ไม่ยอมพาผมกลับบ้านสักที ผมก็ยืนบ่นอยู่ข้างหูแม่ตลอด จนแม่รําคาญควักเงินให้ผม 150 บาท เพื่อให้ไปหาของกิน หลังจากได้เงิน 150 บาทนั้น ผมก็รีบสับเท้าไปหาสิ่งที่ท้องผมเรียกร้องมากที่สุด นั่นคือร้าน ปลาหมึกย่าง หลังกอง อํานวยการแต่ก่อนที่จะถึง ผมเจอกับร้านขายวีดีโอเทป VHS (สมัยนั้นฮิตมาก) ก็เลยแวะดู จนไปเจอกับวีดีโอม้วนหนึ่งที่ หน้าปกเป็นรูปประมาณ นักเบสบอล ทําท่ากําลังจะตีลูก ผมเห็นรูปหน้าปกของม้วนเทปม้วนนั้น ก็พลันคิดทันทีว่า เฮ้ย ทําไมท่าตีเบสบอลมันดูมีพลังจัง ท่าตีกอล์ฟก็คล้ายๆ ท่าตีเบสบอลนี่นา !! จึงชั่งใจระหว่างปลาหมึก กับวีดีโอเบสบอลที่ ไม่รู้ด้วยซํ้าว่าซื้อไปแล้วจะได้อะไรจากมัน มารู้ตัวอีกที ก็คือตอนที่เดินไปต่อราคาวีดีโอเทปม้วนนั้นจาก 200 บาทเหลือ 150 บาทแล้ว สุดท้ายเจ้าของร้านสงสาร หรือ ม้วนวีดีโอการแข่งขันเบสบอลม้วนนั้นขายไม่ออกก็ไม่รู้ แกจึงยอมขายให้ผมมา และในเทปวีดีโอม้วนนั้นละครับ คือจุดเริ่มต้นที่ทําให้ผมพบกับคําตอบบางอย่างในเรื่องของการตีไกล
ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าในวีดีโอเบสบอลม้วนนั้น คือแมทช์แข่งขันระหว่างทีมอะไรกับทีมอะไร แต่ผมจะดูฉากที่นักเบสบอลตีลูกเท่านั้น กรอเทปกลับไปกลับมาอยู่หลายรอบ ว่าทําไมการตีพวกนี้ถึงดูแล้วมีพลังขนาดนั้น จนไปเก็ตว่า เฮ้ย จริงๆ นัก เบสบอลพวกนี้เขาไม่ได้ใช้พลังในการตีลูกจากแขนเลยนี่หว่า !!!
แต่พลังที่นักเบสบอลพวกนี้ตี มาจากทั้งตัวเลย!!! “ใช้พลังในการตีจากทั้งร่างกาย” (เห็นเพราะร่างกายทุกส่วนของนักเบสบอล เวลาตีลูกมีการขยับให้เห็นได้อย่างชัดเจน) เก็ตปุ๊ป ไม่รีรอ วันรุ่งขึ้น รีบโดดเรียนพิเศษให้แม่พาไปสนามไดร์ฟทันที
การทดลองครั้งที่ 2 (ตีโดยใช้ร่างกายทุกส่วน) ผมทดลองตีด้วยการพยายามหมุนเข่า สะโพก หัวไล่ ทั้งตัวตีไปพร้อมๆ กัน จําได้ว่าเป็นวงสวิงที่น่าเกลียดมาก แต่ระยะจาก 110 ขึ้นมาเป็น 130 ทันที แต่ 20 ลูกจะตีได้สัก 1 ลูก | จบบทเรียนในวันนั้นด้วยข้อมูลที่จดบันทึกว่า การใช้พลังใน การตีจากทั้งตัว ทําให้ตีไกลขึ้น แต่นี่ไม่ใช่สวิงกอล์ฟแน่นอน เพราะนอกจากจะไม่สวยแล้ว ยังตีไม่โดนลูกอีก จึงกลับมาศึกษา ภาพจากวีดีโอ เบสบอลต่อว่า ตีทั้งตัว แต่จะทํายังไงให้ตีโดนลูก ค้นจนพบว่า นักเบสบอลแม้จะตีทั้งตัว แต่แกนกลางลําตัวนิ่งอยู่ในจุดศูนย์กลาง จึงทําให้ผมคิดถึงใบพัดกังหันลม ที่สามารถหมุนได้ด้วยความเร็วจากการที่จุดศูนย์กลางอยู่นิ่ง (แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง)
การทดลองครั้งที่ 3 (ตีโดยใช้ร่างกายทุกส่วนแต่แกนกระดูกสันหลังนิ่ง ) ครั้งนี้จึงทดลองพยายามสวิงทั้งตัวโดยให้แกนกลางสวิง (แกนกระดูกสันหลัง) นิ่งที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้มานั้น เกินห้ามใจ นอกจากจะตีแม่นขึ้น ระยะเหล็ก 7 จาก 130 หลา ขึ้นมาทันที 20 หลา เป็น 150 หลาแล้ว ผมสามารถตีได้เกือบทุกลูกเลยด้วย ผมจึงพยายามซ้อมด้วยสวิงแบบนี้อยู่ 3 เดือน ระยะกระเตื้องขึ้นมาอีกจาก 150 เป็ น 160 หลา (สมัยนั้นถือว่าไกล มากในนักกอล์ฟเยาวชนด้วยกัน) แต่พอไปถึงจุดที่ปลดล็อคคําครหาของเพื่อนๆ ได้แล้ว ก็ยังรู้สึกอยากที่จะก้าวไปอีกจุดหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่ผมเปิดสมุดจดบันทึกสวิงเรื่องตีไกล ผมก็จะเห็นคําว่า “ข้าพเจ้าจะต้องเป็น แชมป์ ตีไกล” เสมอจึงกลับมาศึกษาต่อว่า จะทําให้ตัวเองตีไกลกว่านี้ได้ยังไง แต่คราวนี้เปลี่ยนจากการดูสวิงนักเบสบอล มาดูสวิงของ ไทเกอร์ วูดส์ โดยการอัดเทปถ่ายทอดสวิง หลายๆ มุม แล้วเอามา Play ในขณะที่นั่งดู ก็ทําให้เห็นว่า จริงๆ แล้วสวิงกอล์ฟ ก็มีการหมุนเหมือนกับนักเบสบอลนี่นา ใช้พลังในการหมุนจากทั้งตัว เหมือนกัน แต่พอมาเป็นสวิงกอล์ฟ ผมไม่เคยสังเกตเท่านั้น
ผมศึกษาสวิง ไทเกอร์อยู่พักใหญ่ ก็ไม่พบอะไรที่เราสามารถเอามาประยุคใช้ได้จนวันหนึ่ง ที่พ่อผมซื้อวีดีโอเครื่องใหม่มา ที่บ้าน วีดีโอเครื่องนี้มีปุ่ม Slow (ปุ่มที่สามารถดูภาพแบบที่ละเฟรมได้) ผมจึงเอาเทปสวิง ไทเกอร์ ที่ REC เก็บไว้มาเปิด แล้วมันก็ทําให้ผมถึงบางอ้อ อีกครั้งว่า ไทเกอร์ตีลงมาทั้งตัวก็จริง…......แต่ !! คําว่าทั้งตัวนั้น มันเกิดจากการไล่ลําดับแต่ละส่วนลงมา (Timing) ปุ่ม Slow ในเครื่องเล่นวีดีโอใหม่ ทําให้ผมเห็น การขยับตัวของ ไทเกอร์ ในขณะดาวน์สวิงอย่างชัดเจนว่า เขาเริ่มมีการขยับเข่าซ้ายก่อนอย่างแรกเลยในวงสวิง > หลังจากนั้นสะโพกก็ขยับตามมา > หน้าท้องต่อมา > หัวไหล่หมุน เป็นอย่างต่อมา > และอย่างสุดท้ายที่ขยับตามมาคือแขนและมือ ผมเลยพยายามลอกเลียนแบบเช่นเดิม ทําไปทํามาจน พบว่าการขยับช่วงล่างลงมาก่อน ตั้งแต่ขา มันทําให้มีแรงในการดึงร่างกายช่วงบนและแขนลงมาเองโดยอัตโนมัติ แบบไม่ต้องใช้แรงจากมือเลย
การทดลองครั้งที่ 4 (สร้าง Timing จากล่างขึ้นบน) ตอนนําสวิงนี้มาทดสอบตีที่สนามไดร์ฟ จําได้ว่าในถาดแรกแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหล็ก 7 ยังคงได้ระยะ 160 หลา เหมือนเดิม แต่สวิงแบบจัดลําดับ Timing ช่วงล่างขยับลงมาก่อนขณะดาวน์สวิงแบบไทเกอร์ ค่อยๆ ลื่นไหล่มากขึ้น ถาด 2 เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง จากตกหลังเนินกลายเป็นตกข้ามเนิน จบวันนั้นด้วยการตีในถาดที่ 8 เหล็ก 7 สามารถตีตก หน้าป้าย 200 ได้โดยไม่รู้ตัว (ประมาณ 190 หลา) และที่สําคัญ ผมไม่เหนื่อยเลย เหมือนไม่ต้องออกแรงเยอะเหมือนแต่ก่อน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวและการปลดล็อคระยะบางส่วน จากวันที่เด็กน้อยคนนึงได้ให้คําว่ามั่นว่า “ข้าพเจ้าจะต้องเป็นแชมป์ตีไกล” เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ผมใช้เวลาประมาณ18 เดือน จากตอนที่ตีเหล็ก 7 ระยะ 110 หลาขึ้นมาเป็น 190 หลา และต่อจากนั้นอีก 12 เดือน ผมก็ได้แชมป์ ตีไกลของภาคกลาง (ยังไม่ใช่แชมป์ประเทศ) จําได้ว่าตอนนั้น เป็นสถิติแชมป์ตีไกลภาคที่อายุน้อยที่สุด (อายุ 15 ปี) ระยะที่ทําได้ในครั้งนั้นประมาณ 310 หลา+ นี่คือเนื้อหาบางส่วนในช่วงที่ผมตัดสินใจพัฒนาระยะในวัยเด็ก ซึ่งปัจจุบัน ยังมีวิธีและเทคนิคอีกหลายๆวิธี ที่ทําให้ผมสามารถเพิ่มระยะขึ้นมาเรื่อยๆ จนผมพบว่า การที่เราจะสามารถตีไกลขึ้นนั้น ไม่ใช่การพยายามตีให้แรง เพราะในสวิง กอล์ฟ มันมีจุดต่างๆ ให้เราสามารถปลดล็อคมันได้เสมอ ซึ่งจากประสบการณ์ทั้งหมด ทําให้ผมพบว่า "พละกําลังเปิดประตู เหล็กไม่ได้....กุญแจดอกเล็กๆ ต่างหากที่เปิดประตูเหล็กได้"
ระยะเฉลี่ยปัจจุบัน
60 องศา - 110 หลา
56 องศา –135 หลา
P.W. – 160 หลา
9 IRON – 175 หลา
8 IRON – 190 หลา
7 IRON – 205 หลา
6 IRON – 215 หลา
5 IRON –225 หลา
4 IRON – 235 หลา
3 Wood–280 หลา
Driver –305 หลา
Saharath Manittayakul (โปรเชน)
ผู้ดำเนินรายการ & โปรผู้สอน - รายการ Club 18 (Golf Channel True Vision 675)
Columnist - Swing Magazine
อาจารย์พิเศษวิชาจิตวิทยากอล์ฟ - มหาวิทยาลัยรามคำแหง
Manager Director - บริษัท Reno Produce
Swoosh Advisory - Nike Golf
Brand Presenter - เครื่องดื่มตรา Chang (ThaiBev)
เรื่องราวทั้งหมดของบทความนี้ มาจากแรงบันดาลใจ หลังกอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ ทำบทความ คุณสมบัติในการตี 300 หลา http://golferdigital.com/article/82/ ซึ่งเป็นบทความที่มีผู้สนใจอ่านมากที่สุด เลยมีความคิดว่า เราควรหาโมเดลนักกอล์ฟที่ไม่ได้ตีไกลตั้งแต่เริ่มเลยกอล์ฟ มานำเสนอว่าสุดท้ายแล้ว เขาทำอย่างไรถึงตีไกลขึ้น
Tags: ตีไกล Longset Drive 300 Yards ลิโพ Lipo