Champions Dinner
30 Jul 2016
- Shares:
ชาร์ลี-แนน
ผู้ที่ทําให้ชาวต่างชาติเข้าถึงอาหารไทย
ความแตกต่างในการบอกใครสักคนว่า “เรามีของดี” กับ “ของเรามีอะไรดี” คือการบอกว่าเรามีของดี คนบอกอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เรากําลังพูดนั้นมีดีอะไร อะไรละที่ดี และมีอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น หรือว่าคนพูดกําลังถูกป้อนโปรแกรมให้พูดไปตามสคริปต์ พูดแบบนกแก้ว นกขุนทอง แต่การที่จะบอกใครสักคนว่าของเรามีดีอะไรนั้น ผู้พูดย่อมมีความรู้ความเข้าใจกับสิ่งที่กําลังพูดอย่างแท้จริง
ต่อคำถามที่วกวนข้างบนนี้ สะท้อนถึงตัวตนของคุณชาร์ลี (พี่อู๊ด) และคุณแนน (พี่นัน) ที่นำอาหารไทยสู่ชาวโลก ด้วยการอธิบายว่า อาหารไทยมีดีอะไร ไม่ใช่แค่เพียง บอกว่า อาหารไทยเราดีนะ
คุณชาร์ลี และ แนน นิยมกุล ได้ร่วมกันเปิดร้านอาหารไทยชื่อ แทมมารีน ( Tamarind Seed ) เมื่อปี 1981 ที่นิวยอร์ค แต่เนื่องจากความรักในกีฬากอล์ฟ โอกาสทางธุรกิจ และความท้าทายในการสร้างร้านอาหารไทยให้คนในอเมริกายอมรับ จึงย้ายไปอยู่ในเมืองแอตแลนต้า เมื่อปี 1989 และตามมาด้วยร้านแนน ในปี 1998 ร้านอาหารไทยที่ลูกค้าต้องแต่งตัวให้เนี้ยบเพื่อเข้ามารับประทานอาหาร
ที่เมืองแอตแลนต้านี้เอง คุณชาร์ลีและคุณแนน ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างร้านอาหารไทยจนติดอันดับ 1 ในเมืองแอตแลนต้า สร้างชื่อเสียงให้กับอาหารไทยจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คุณชาร์ลีเล่าให้ฟังว่า ความหมายของชื่อร้านมาจาก “มะขาม” ซึ่งเป็น สิ่งที่เติบโตคู่กับมาวิถีคนไทย เราเห็นต้นมะขามปลูกรอบท้องสนามหลวง เราใช้มะขามในการทําอาหารไทยหลากหลายชนิด ชื่อนี้จึงสะท้อนความเป็นไทยอย่างแท้จริง
คุณชาร์ลีและคุณแนน ใช้เวลาตลอด 26 ปี ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านอาหารไทย ในการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารไทยกับชาวต่างประเทศ คุณชาร์ลีเล่าให้ฟังว่า “เราไม่ได้โปรโมทว่าอาหารไทยเราดี โดยที่เราไม่รู้ว่าเรามีดีอะไร เราพยายามให้ความรู้ ความเข้าใจกับชาวต่างประเทศว่าอาหารไทยเรามีดีที่ตรงไหน วัตถุดิบที่นํามาปรุงอาหารในจานประกอบไปด้วยอะไรบ้าง วัตถุดิบแต่ละอย่างมีประโยชน์อย่างไร ช่วยเรื่องสุขภาพ เรื่องรสชาติ ความหอม ความกลมกล่อม และสมุนไพรบางอย่างยังช่วยลดความคาวของอาหารลง ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เข้าถึงอาหารไทยอย่างแท้จริง”
คุณแนนบอกเสริมกับเราว่า “อาหารไทยของเรามีดีหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแต่รสชาติที่กลมกล่อม แต่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากเครื่องเคียงที่ใช้ในการปรุงอาหารนั้นประกอบไปด้วยสมุนไพรนานับชนิดที่เป็นภูมิปัญญาไทย ทําให้ชาวต่างชาติซึ่งให้ความสําคัญกับด้านสุขภาพและโภชนาการให้ความสนใจอาหารไทย จนปัจจุบันความนิยมของอาหารไทยนั้นติดอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงอาหารจีนและอาหารอิตาเลียน”
เหนือสิ่งอื่นใด คุณแนนและคุณชาร์ลี ยังได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันให้อาหารไทยเข้าไปติดอันดับอาหารยอดนิยมในวงการกอล์ฟอีกด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ วีเจย์ ซิงห์ ได้แชมป์เดอะมาสเตอร์สในปี 2000 ปีถัดมาตามประเพณีแชมป์ปีล่าสุดต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดเลี้ยงอาหารให้กับอดีตแชมป์เก่า คุณแนนรับหน้าที่เป็นแม่ครัวตาม คําชักชวนของวีเจย์ ซิงห์ ปรุงอาหารไทยขึ้นเพื่อเสิร์ฟนักกอล์ฟระดับตํานานและแชมป์เก่ารายการนี้ที่มาร่วมรับประทานอาหารที่ ชั้น 2 คลับเฮาส์ในสนามออกัสต้า
ในครั้งแรกที่บรรดานักกอล์ฟเห็นอาหาร หลายคนไม่กล้าที่จะรับประทาน โดยเฉพาะนักกอล์ฟรุ่นเดอะต่างไม่คุ้นเคยกับอาหารไทย วีเจย์ ซิงห์ ต้องเดินไปยกอาหารอื่นที่สํารองไว้ เผื่อใครทานอาหารไทยไม่ได้ นําไปวางไว้ที่อื่น พร้อมกับเอ่ยปากชักชวนให้บรรดานักกอล์ฟได้ลองอาหารที่พิเศษที่สุด “มันดีสําหรับคุณแน่นอน” วีเจย์ ย้ำ และไทเกอร์ซึ่งคุ้นเคยอาหารไทยพอสมควรตอกย้ำอีกที ด้วยการเอ่ยปากชวนให้นักกอล์ฟลองชิมดู
ไบรอน เนลสัน เป็นอีกนักกอล์ฟที่ไม่กล้าชิมในตอนแรก แต่ต้องขอเบิ้ลอาหารจานเด็ดบางจาน ภายหลังได้ลิ้มรสอาหารไทยที่กลมกล่อม
คุณแนนแม่ครัวเอกของ Champions Dinner ในคืนนั้น ถูกรับเชิญให้ขึ้นมาบริเวณชั้น 2 ซึ่งโดยปกติไม่อนุญาตให้สุภาพสตรีขึ้นมา แม้กระทั่งภรรยาของอดีตแชมป์เก่าก็ไม่ได้รับเชิญให้มาในงานเลี้ยงวันนั้น จากคำแนะนำของวีเจย์ ซิงค์ที่ต้องการแนะนำให้นักกอล์ฟที่มีเกียรติทั้งหลายได้รู้จักคุณแนน ซึ่งวีเจย์ ซิงค์นับถือเสมือนเป็นพี่สาวของตัวเอง คุณเนลสันได้กล่าวชื่นชมถึงรสชาติของอาหารไทยที่ได้ชิม ซึ่งสร้างความตื้นตันในให้กับผู้ปรุงอาหารหรือใครก็ตามที่เป็นคนไทย
ไบรอน เนลสัน กล่าวว่าหลังรับประทานอาหารเสร็จว่า “ผมเดินทางไปแข่งขันกอล์ฟในที่ต่างๆ ทั่วโลกมากว่า 50 ปี ได้ทานอาหารหลากหลายชนิด จากหลายๆ ชาติ แต่ผม ไม่เคยได้รับประทานอาหารชนิดใดที่มีรสชาติที่อร่อย กลมกล่อมเท่านี้มาก่อน”
เคล็ดลับแห่งความสําเร็จ
การทํางานภายในร้าน คุณแนนมีหน้าที่ในการดูแลการปรุงอาหาร คิดค้นส่วนผสม และจัดหน้าตาของอาหารให้ดูสวยงาม น่าทาน โดยมีคุณชาร์ลี เป็น ผู้บรรยายสรรพคุณของอาหารไทยด้วยลีลา และแววตาที่ชวนให้คล้อยตาม เรากล้ารับประกันว่าใครได้เห็นหรือได้ยิน ลีลาคุณชาร์ลีบรรยายสรรพคุณอาหาร คงอดมิได้ที่น้ำย่อยในกระเพาะจะหลั่งออกอย่างเฉียบพลันณ ขนาดนั้น แม้ว่าขณะที่นั่งฟังอยู่ท้องเราเริ่มจะอิ่มจากอาหารชุดใหญ่ที่เพิ่งทานเสร็จไปไม่นาน
คุณแนน ผู้กุมหัวใจของรสชาติอาหารไว้ บอกเคล็ดลับในการปรุงอาหารให้อร่อย เป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวต่างประเทศว่า วัตถุดิบทุกๆ อย่างในร้านอาหารจะใช้เป็นของไทยแท้ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร น้ำปลา เป็นต้น แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างที่มาจากเมืองไทยจะแพงกว่าวัตถุดิบจากเพื่อนบ้าน แต่คุณแนนก็ภูมิใจที่จะใช้สินค้าจากไทยแท้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิเกรดดี ซึ่งน่าแปลกใจว่าคุณภาพข้าวไทยในต่างประเทศที่ส่งมาจากเมืองไทย จะมีรสชาติที่ดีกว่าข้าวหอมมะลิที่ขายในเมืองไทย เรื่องนี้คุณแนนถึงขนาดบอกว่า ถ้ามีโอกาสจะเอาข้าวไทยที่ซื้อที่อเมริกามาให้ชิมดู
ในส่วนวัตถุดิบประเภทของสด คุณแนนได้คัดเลือกของสดเช่น เนื้อปลา เนื้อปลาหมึก กุ้ง จากแหล่งต่างๆ ชื่อดังจากทั่วทุกมุมโลก มาผสมผสานกับสูตรอาหารไทยที่ผ่านการคิดค้น ชิมแล้วชิมเล่าจนแน่ใจในรสชาติ ก่อนที่จะนํามาขึ้นเมนู โดยมีสูตรการปรุงด้วยเครื่องตวงต่างๆ ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทําให้รสชาติอาหารคงที่ แม้ว่าแม่ครัวตัวจริงจะไม่ได้ลงมือเอง และสิ่งสําคัญที่สุดในเรื่องการรักษาคุณภาพอาหารได้อย่างสม่ำเสมอ คือแหล่งที่มาของวัตถุดิบต้องมีคุณภาพที่คงเส้นคงวาด้วย ไม่มีการลักไก่ สอดไส้ของไม่ดีมาให้ ซึ่งคุณแนนต้องคอยตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างสม่ำเสมอ สําหรับประเด็นหลังนี้ค่อนข้างน่าสนใจ มีความเป็นไปได้ที่คุณภาพของอาหารบางร้านที่เคยอร่อย หากไม่ระมัดระวัง ให้ความเชื่อใจกับแหล่งวัตถุดิบมาก โดยขาดการตรวจสอบ คุณภาพอาหารมีโอกาสด้อยลงได้
คุณชาร์ลีผู้รับหน้าที่ให้ข้อมูลอาหารจานเด็ดแต่ละจานและดูแลเรื่องการบริการลูกค้า บอกเคล็ดลับในการกุมหัวใจลูกค้าว่า การจะมัดใจลูกค้าไว้อย่างเหนียวแน่นนั้นประกอบไปด้วย บริการ 25% รสชาติอาหาร 25% อีก 50% คุณชาร์ลีให้ความสําคัญกับการจัดอาหารให้มีความสวยงาม
อาหารกินด้วยตา 50% คุณชาร์ลีขยายความดังกล่าวว่า “คุณแนนจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการตกแต่งประดิดประดอย อาหารให้ดูสวยงาม น่าทาน เวลาที่อาหารถูกนํามาเสิร์ฟที่โต๊ะ มันจะต้องรู้สึกถึงความอร่อยแล้ว โดยที่ยังไม่ลงมือทาน การตกแต่งอาหารต้องสวยจนกระทั่งไม่กล้าที่จะแตะต้อง ต้องค่อยๆ ทานอย่างละเมียดละไม”
ในส่วนของการบริการนั้น คุณชาร์ลีให้ความสําคัญกับความกระตือรือร้นของพนักงาน เมื่อมีลูกค้าเดินเข้ามาในร้าน พนักงานจะต้องแสดงถึงความกระตือรือร้นในการต้อนรับ และเมื่อลูกค้าอยู่ในร้าน พนักงานต้องช่วยกันสังเกตว่าลูกค้าต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือไม่ ซึ่งในส่วนของการบริการจะมีการจัดอบรมสัมมานากันค่อนข้างถี่ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
สิ่งสําคัญที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของคุณชาร์ลี คือการให้ความรู้ในเรื่องอาหารไทยกับลูกค้าที่เข้ามาในร้าน ให้เขาเข้าใจว่าอาหารไทยเป็นอย่างไร คุณชาร์ลีจะสอนพนักงานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของอาหารไทย เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ของอาหาร ความแตกต่างระหว่างแกงของไทย อินเดีย หรือแกงกระหรี่ของญี่ปุ่น ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ ให้รู้ว่าเขากําลังทานอะไรอยู่ จะทําให้ลูกค้าประทับใจ มั่นใจกับสิ่งที่กําลังทาน และนําไปเล่าขานต่อๆ กัน ทําให้ชาวต่างชาติเข้าถึงอาหารไทยว่ามีอะไรดี
เรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย คุณชาร์ลีขยายความเพิ่มเติมไว้ว่า “เราน่าจะมีหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของอาหารไทย ให้ชาวต่างประเทศได้ศึกษากัน จะเป็นวิธีการที่ช่วยให้อาหารไทยได้รับความนิยมมากขึ้น และเข้าถึงชาวต่างชาติอย่างแท้จริง เหมือนอย่างที่คุณชาลีกับคุณแนนได้ร่วมกันทําอย่างต่อเนื่องมาตลอด 26 ปีในอเมริกา”
เชิญชมอาหารเมนูต่างๆ ที่คุณชาร์ลีบอกว่า อาหารกินด้วยตา 50% คุณเห็นด้วยมั้ย
ท่านใดมีร้านอาหารอร่อยชนิด ชาตินี้ห้ามพลาด แนะนำกันเข้ามาครับ
เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
Chalermwong B.Kajorn
ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.
30 / 7 /2559
https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/
Official Line : @golferonline
Tags : Food , Cuisine , อาหาร , เกลี้ยงจาน Dinner ,GolfFood , GolfDinner อาหารชาวกอล์ฟ
Photo Cradit : http://www.masters.com/en_US/news/articles/2016-04-05/spieth_a_nervous_host_for_champions_dinner.html
http://www.tamarindseed.com/index.html
http://www.nanfinedining.com/
Related to
http://www.tamarindseed.com/index.htmlhttp://www.nanfinedining.com/