ฟ้าผ่า ตาดู หูฟัง นับเลขในใจ

27 Jul 2016
  • Shares:

10 คําถามที่นักกอล์ฟควรรู้เกี่ยวกับฟ้าผ่า

 

            เรื่องต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ผมให้กิ๊ฟท์ รัตนาพร เพ็ญโฉม ซึ่งเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการกอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ยุคนั้น หาข้อมูลมาให้ เรื่องนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ กรกฎาคม 2550

 

        กิ๊ฟท์เล่าให้ฟังว่า ผู้เขียนยินดีนำเรื่องนี้มาให้เผยแพร่ เพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ครับ ทางผู้เขียนมิได้มองว่า เป็นลิขสิทธิ์ เค้ามองว่า เรื่องนี้ประชาชนควรมีความรู้ที่ถูกต้องครับ

            ต้องขอบคุณดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ที่เขียนเรื่องราวดังกล่าวที่อนุญาตให้เรานำบทความตีพิมพ์เผยแพร่ครับ

           

       E-mail : buncht@mtec.or.th ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ : นักวิชาการของ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคอลัมนิสต์ของนิตยสารสารคดี และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่นจุดประกายเสาร์สวัสดี (ข้อมูลในยุคนั้น)

      

            ภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่อาจเกิดในสนามกอล์ฟก็คือ ฟ้าผ่า โดยในแต่ละปีจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากฟ้าผ่าอยู่เสมอๆ ดังนั้น บรรดานักกอล์ฟและผู้ใช้สนามกอล์ฟ  จึงควรเข้าใจพื้นฐานและหลักการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยชนิดนี้

 

1 ฟ้าผ่าเกิดจากอะไร?

ตอบ : ฟ้าผ่าเป็นการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าในอากาศ ซึ่งอาจเกิดร่วมกับปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายอย่าง เช่น พายุฝุ่น หรือการระเบิดของภูเขาไฟ อย่างไรก็ดี ฟ้าผ่าที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่เกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าออกจากเมฆฝนฟ้าคะนอง (Thunder Cloud) หรือที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) 

 

      เมฆฝนฟ้าคะนองมีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่มหึมา บริเวณฐานเมฆ (ขอบล่าง) สูงจากพื้นราว 2 กิโลเมตร และส่วนยอดเมฆ (ขอบบน) อาจสูงถึง 20 กิโลเมตร ภายในก้อนเมฆมีการไหลเวียนของอากาศอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทําให้หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า โดยประจุบวกจะออกันอยู่บริเวณยอดเมฆ และประจุลบจะอยู่บริเวณฐานเมฆ ประจุลบที่ฐานเมฆจะเหนี่ยวนําให้พื้นผิวของโลกที่อยู่ “ใต้เงา” ของมันมีประจุเป็นบวก โดยพื้นผิวบริเวณข้างเคียงจะมีประจุเป็นลบ 

 

เมื่อยึดหลักการที่ว่า ฟ้าผ่าจะเชื่อมต่อบริเวณ 2 แห่งที่มีประจุต่างๆ กัน ก็จะพบว่าฟ้าผ่ามี 4   แบบหลัก ได้แก่ 

 

1. ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ  ซึ่งเชื่อมต่อประจุลบด้านล่างกับประจุบวกด้านบนเข้าด้วยกัน ฟ้าผ่าแบบนี้เกิดมากที่สุด 

2. ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง เช่น จากประจุลบในเมฆก้อนหนึ่งไปยังประจุบวกในเมฆอีกก้อนหนึ่ง 

3. ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น เป็นการปลดปล่อยประจุลบออกจากก้อนเมฆ จึงเรียกว่า ฟ้าผ่าแบบประจุลบ (negative lightning) 

4. ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เป็นการปลดปล่อยประจุบวกออกจากก้อนเมฆ จึงเรียกว่า ฟ้าผ่าแบบประจุบวก (positive lightning) 

 

            ฟ้าผ่าที่เป็นอันตรายต่อนักกอล์ฟและคนที่อยู่บนพื้น ได้แก่ ฟ้าผ่าแบบประจุลบ (แบบที่ 3) และ ฟ้าผ่าแบบประจุบวก (แบบที่ 4) ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะฟ้าผ่าเพียงสองประเภทนี้เท่านั้น

 

2 ฟ้าผ่ามีรัศมีที่สามารถทําอันตรายแค่ไหน และวัดความรุนแรงได้อย่างไร?

ตอบ : สําหรับ ฟ้าผ่าแบบประจุลบ จะผ่าลงบริเวณ “ใต้เงา” ของเมฆ ฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ถูกเหนี่ยวนําให้มีสภาพเป็นประจุบวกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 

 

สําหรับ ฟ้าผ่าแบบประจุบวก นั้นสามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆถึง 16 กิโลเมตร นั่นคือ แม้ท้องฟ้าเหนือศีรษะของเราจะดูปลอดโปร่ง ไม่ค่อยมีเมฆ เราก็อาจจะถูกฟ้าผ่า (แบบประจุบวก) ได้หากมีฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างไกลออกไปกว่า 10 กิโลเมตร!! นี่เองที่ทําให้เกิดเหตุการณ์ที่เราอาจเคยได้ยินมาว่า ฟ้าผ่าลงมา   แม้ท้องฟ้าจะดูสดใสก็ตามที และอาจเป็นที่มาของสํานวนฝรั่งที่ว่า “Out of The Blue” ซึ่งบ่งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน (คําว่า Blue ในที่นี้ คือ Blue Sky)

      ในสหรัฐอเมริกา มีบันทึกว่าเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1984 ได้เกิดฟ้าผ่านักกอล์ฟในเมืองทูซอน มลรัฐแอริโซนา โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองห่างออกไปราว 5 กม.

      ฟ้าผ่าแบบประจุบวกแม้จะเกิดน้อยกว่าฟ้าผ่าแบบประจุลบ แต่ก็ทรงพลังมากกว่าราว 10 เท่า กล่าวคือ กระแสไฟฟ้าอาจสูงถึง 300,000 แอมแปร์ และความต่างศักย์สูงถึง 1 พันล้านโวลต์ และที่น่าสนใจคือ ฟ้าผ่าแบบประจุบวกมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนอง คือ หลังจากฝนที่กระหน่ำเริ่มซาลงแล้ว    (ดูรายละเอียดในข้อ 8 เพิ่มเติม)

 

3 จําเป็นหรือไม่ที่สายฟ้าจะผ่าลงมาตรงวัตถุที่สูงที่สุด เช่น 

ต้นไม้สูงที่สุดในบริเวณหนึ่งๆ  เนื่องจากมีรายงานจากบางสนามระบุว่า บางครั้งฟ้าก็ผ่าลงมาที่ต้นไม้เล็ก ทั้งๆ ที่บริเวณนั้นก็มีต้นไม้ใหญ่

 

ตอบ :  โดยหลักการแล้ว สายฟ้าอาจฟาดลงมาได้ทุกจุด ไม่ว่าบนพื้นดิน ต้นไม้ หรือบนอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ดังนั้น ข้อมูลที่ว่าฟ้าผ่าต้นไม้ต้นเล็ก ทั้งๆ ที่มีต้นไม้ที่สูงใหญ่กว่าอยู่ใกล้ๆ  จึงเป็นไปได้

 

       อย่างไรก็ดี ตามสถิติแล้ววัตถุหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่สูงกว่าจะมีโอกาสที่จะถูกฟ้าผ่ามากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงห้ามหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ในระหว่างที่เกิดฝนฟ้าคะนอง 

 

4 หากไปหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ แล้วไม่แตะต้องลําต้น 

หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของต้นไม้ ก็ไม่น่าจะเป็นไรมิใช่หรือ?

ตอบ : ไม่ใช่! สมมติว่าสายฟ้าได้ฟาดลงมายังต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งมีคนหรือสัตว์อยู่ใกล้ๆ ก็จะเกิดเหตุการณ์ได้ 3 กรณี ดังนี้

      กรณีแรก : ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสต้นไม้ อย่างนี้กระแสไฟฟ้า     ก็จะไหลเข้าสู่ร่างกายโดยตรง เป็นอันตรายแน่

 

      กรณีที่สอง : แม้ร่างกายจะไม่สัมผัสกับต้นไม้ แต่หากอยู่ใกล้ๆ กระแสไฟฟ้า  ก็สามารถ “กระโดด” เข้าสู่ร่างกายทางด้านข้างได้ แบบนี้เรียกว่า ไฟฟ้าแลบจากด้านข้าง หรือ ไซด์แฟลช (Side Flash) 

 

      กรณีที่สาม : แม้ว่าจะอยู่ห่างออกมาพอสมควร แต่กระแสไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้นก็ทําอันตรายคุณได้ ลองดูวัวที่ยืนมองต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าในภาพ กระแสไฟฟ้าซึ่ง วิ่งลงมาตามลําต้น จะไหลลงมาที่โคนต้นแล้วกระจายออกไปตามพื้นโดยรอบ กระแสส่วนที่วิ่งตรงมายังวัวจะวิ่งเข้าสองขาหน้าของวัว ผ่านลําตัว แล้วออกไปทางสองขาหลังของวัว ครบวงจรพอดี   แบบนี้เรียกว่า กระแส  วิ่งตามตามพื้น (Ground Current) หรือที่นักวิชาการเรียกว่าเกิด สเต็ปโวลต์เตจ (Step Voltage) คือ มีความต่างศักย์ระหว่างสองบริเวณ (ในที่นี้คือ สองขาหน้าและสองขาหลังของวัว) ทําให้กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านได้ 

 

 

      นั่นคือ ไม่ว่าในกรณีใด ใครก็ตามที่อยู่ใกล้ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าก็ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น!!

 

5 หากอยู่กลางแจ้งและไม่มีที่หลบ หรือที่หลบอยู่ไกลเกินไป 

ควรจะทําตัวอย่างไร?

ตอบ : แม้ว่าไม่มีที่ใดกลางแจ้งที่ปลอดภัยจากฟ้าผ่า แต่เราสามารถลด ความเสี่ยงจากอันตรายได้โดยอยู่ในท่าทางที่เหมาะสม โดยนั่งยองๆ ก้มศีรษะ   (เพื่อลดตัวให้ต่ำที่สุด) และเท้าชิดกัน เขย่งเล็กน้อย (เพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไหลมาตามพื้น)  

 

แต่หากรู้สึกเมื่อย ก็อาจปรับท่าเป็นนั่งคุกเข่า  แต่คุณก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นหากมีกระแสไฟฟ้าไหลมาตามพื้น

 

ที่ต้องจําไว้คือ อย่านอนราบลงกับพื้นเด็ดขาด เนื่องจากการนอนราบ (ไม่ว่าจะคว่ำหรือหงาย) จะมีจุดในร่างกายแตะพื้นอย่างน้อย 2 จุดเสมอ และจะเปิดโอกาสให้กระแสไฟฟ้าที่วิ่งมาตามพื้นไหลเข้าจุดหนึ่ง แล้ววิ่งออกอีกจุดหนึ่งผ่านตัวคุณ

 

6 สถานที่หลบภัยจากฟ้าผ่าใดที่ปลอดภัยบ้าง?

ตอบ : สถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดจากฟ้าผ่า คือ ภายในตัวอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า 

 

      อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะอยู่ในอาคาร คุณก็ไม่ควรสัมผัสกับวัสดุหรืออุปกรณ์ที่มีส่วนเชื่อมต่อกับส่วนของอาคารด้านนอกที่อาจถูกฟ้าผ่าได้ เช่น ในต่างประเทศ เคยมีคนถูกฟ้าผ่าขณะกําลังใช้โทรศัพท์แบบมีสาย เนื่องจากสายฟ้าได้ฟาดลงมาที่อุปกรณ์ด้านนอกอาคารที่ต่อกับสายโทรศัพท์ ทําให้กระแสไฟฟ้าวิ่งมาตามสาย  โทรศัพท์เข้าทําอันตรายผู้ใช้โทรศัพท์โดยตรง

 

      สําหรับโทรทัศน์ ควรถอดปลั๊กไฟและดึงสายอากาศที่ต่อกับหลังคาของอาคารออก  ส่วนคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ควรเล่นอินเตอร์เน็ตโดยเชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์  ในต่างประเทศ มีข้อห้ามถึงขนาดว่า ห้ามอาบน้ำขณะฝนฟ้าคะนอง เพราะไฟฟ้าจากฟ้าผ่าอาจวิ่งมาตามท่อประปาที่ทําจากโลหะได้อีกด้วย

 

ภาพที่ 7 : การทดสอบฟ้าผ่ารถยนต์

โดยบริษัท General Electric สังเกตว่า

 

สําหรับรถกอล์ฟนั้นไม่ปลอดภัย เพราะไม่ปิดสนิท หากฟ้าผ่ามาที่หลังคารถ กระแสไฟฟ้าอาจจะไหลตามจากน้ำฝนที่สาดกระเซ็นเข้ามาได้ (หากมีฝนตกด้วย) หรืออาจจะกระโดดจากโครงรถเข้าสู่ตัวคุณได้ (คล้ายกรณีไฟแลบจากด้านข้าง)

 

      หากคุณอยู่ในรถ ให้ปิดกระจกรถให้สนิท และอย่าสัมผัสกับส่วนใด   ส่วนหนึ่งของรถที่เป็นโครงโลหะ ในกรณีเช่นนี้ แม้ว่าฟ้าจะผ่ารถคุณ กระแสไฟฟ้า ก็จะไหลไปตามโครงรถและออกไปทางล้อ แม้ว่าล้อจะเป็นยางซึ่งเป็นฉนวน      แต่เนื่องจากความต่างศักย์ไฟฟ้ามีค่าสูงมาก ทําให้กระแสสามารถกระโดดจาก  กระทะล้อลงสู่พื้นได้ 

 

7 มีวิธีสังเกตอย่างไรว่า กําลังเสี่ยงต่อการโดนฟ้าผ่า?

ตอบ : หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่เหนือศีรษะ คุณก็จะมีสิทธิ์ถูกฟ้าผ่าแบบประจุลบได้ ยิ่งถ้าเส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้นเนื่องจากบริเวณผิวหนังและผิวของเส้นผมมีประจุเป็นบวก ก็แสดงว่า คุณกําลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าอย่างมาก 

 

        หากท้องฟ้าเหนือศีรษะคุณไม่มีเมฆฝนฟ้าคะนอง แต่ไกลออกไปราว 10 กิโลเมตร มีพายุฝนฟ้าคะนอง คุณก็ยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าแบบประจุบวกเช่นกัน (แม้โอกาสที่เกิดจะน้อยนิดก็ตามที แต่ก็มีคนและสัตว์จํานวนมากเคยโดนมาแล้ว)

ภาพนี้มาจากเหตุการณ์จริง ซึ่งหลังจากที่สตรีในภาพได้เดินจากไปแล้วประมาณ 5 นาที 

สายฟ้าได้ผ่าลงมาบริเวณที่เธอเคยยืนอยู่ ทําให้มีผู้ เสียชีวิต 1 คน พิการ 1 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 6 คน

 

8 เคยได้ยินว่า ทหารที่ออกปฏิบัติหน้าที่มีวิธีการสังเกตเรื่องฟ้าผ่า โดยใช้หลักการนับเวลาเป็นวินาที 

หลังจากที่ฟ้าแลบ แล้วเสียงฟ้าผ่าตามมาอีกกี่วินาทีแล้วจะไม่ปลอดภัย 

ตอบ : ในทางปฏิบัติ มีกฎจําง่ายๆ ข้อหนึ่งเรียกว่า กฎ 30/30 ดังนี้

       เลข 30 ตัวแรกมีหน่วยเป็นวินาที หมายถึงว่า หากเห็นฟ้าแลบ แล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที ก็แสดงว่า เมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้มากเพียงพอที่ฟ้าผ่าจะทําอันตรายคุณได้ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัยทันที

 

        น่ารู้ด้วยว่า เสียงเดินทางด้วยอัตราเร็วประมาณ 343 เมตร/วินาที (ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส) ดังนั้น ระยะเวลาต่ำกว่า 30 วินาที จึงหมายถึงว่า เมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างออกไปไม่ถีง 10.5 กิโลเมตร (ในสหรัฐอเมริกาซึ่งวัดระยะทางเป็นไมล์ จําง่ายๆ ว่าเสียงเดินทางด้วยอัตราเร็ว 0.2 ไมล์/วินาที ดังนั้น เวลา 30 วินาที จึงหมายถึงเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างออกไปราว 6 ไมล์)

       เลข 30 ตัวหลัง มีหน่วยเป็นนาที หมายถึงว่า หลังจากที่พายุฝนฟ้าคะนองหยุดลงแล้ว (นั่นคือ ฝนหยุด และไม่มีเสียงฟ้าร้อง) คุณควรจะรออยู่ในที่หลบอีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่า เมฆฝนฟ้าคะนองได้ผ่านไป หรือสลายตัวไปแล้ว อย่าลืมว่า ฟ้าผ่าแบบประจุบวกมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนอง

 

9 มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจับฟ้าผ่าหรือไม่? 

ตอบ : มีอุปกรณ์ตรวจจับฟ้าผ่ามีหลายแบบ โดยทุกแบบล้วนใช้หลักการตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากฟ้าผ่า อย่างไรก็ดีในมุมมองของผู้ใช้ หรือผู้เล่นกอล์ฟ อาจแบ่งอุปกรณ์เหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

      กลุ่มแรกเป็นอุปกรณ์ซึ่งติดตั้งแบบถาวร ซึ่งใช้ในการศึกษาวิจัย หรือ  เป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายตรวจจับฟ้าผ่าในวงกว้าง เช่น อุปกรณ์ ALDF (Alvanced Lightning Direction Finder) จํานวน 130 ตัวของ เครือข่ายตรวจจับการเกิดฟ้าผ่าแห่งชาติ (The National Lightning Detection Network, NLDN) ของสหรัฐอเมริกา ข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าผ่าจากระบบเครือข่ายนี้มีประโยชน์สําหรับกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาในการตัดสินใจ เช่น การบิน เป็นต้น

 

     อุปกรณ์อีกกลุ่มหนึ่งเป็นแบบพกพาซึ่งมีหลายโมเดลในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ข้อมูลสําคัญที่อุปกรณ์แบบพกพานี้จะให้กับผู้ใช้ได้แก่ ระยะทางที่เกิดฟ้าผ่า เช่น เครื่องรุ่นหนึ่งจะระบุช่วงระยะห่างเป็น 4 ช่วง (โดยใช้หน่วยไมล์ตามแบบอเมริกัน) ได้แก่ ระยะใกล้กว่า 6 ไมล์ (ซึ่งเป็นไปตามกฎ 30/30) ระยะ  6-12 ไมล์  ระยะ 12-20 ไมล์ และระยะ 24-40 ไมล์ เป็นต้น

 

      บางเครื่องอาจจะตรวจจับได้ด้วยว่า พายุฝนฟ้าคะนองกําลังเคลื่อนที่เข้าหาคุณอยู่หรือไม่ และหากใช่ พายุนี้จะมาถึงในเวลานานแค่ไหน เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจได้ทันท่วงที (ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องตรวจจับฟ้าผ่าสามารถค้นอินเตอร์เน็ตด้วยคําว่า Lightning Detector หรือ Lightning Detection Equipment)

 

      ในการตัดสินใจว่าควรจะยุติการเล่นเพื่อหลบเข้าที่กําบังหรือไม่ ควรใช้กฎ 30/30 โดยคํานึงถึงระยะเวลาที่คุณต้องใช้ในการเข้าที่กําบังที่ใกล้ที่สุดด้วย (โปรดดูตัวอย่างการคํานวณในกรอบใกล้ๆ นี้)

 

ตัวอย่างการคํานวณ

สมมติว่าเครื่องตรวจจับฟ้าผ่าบอกว่า เกิดฟ้าผ่าห่างออกไปไกล 20 กิโลเมตร โดยพายุฝนฟ้าคะนองเคลื่อนเข้าหาคุณด้วยอัตราเร็ว 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง (หรือ 0.5 กิโลเมตร/นาที) โดยที่กําบังใกล้ที่สุดต้องใช้เวลาเดินทางราว 5 นาที 

คําถามคือ คุณมีเวลาเล่นต่อและเก็บสัมภาระต่างๆ อีกไม่เกินกี่นาที?

 

วิธีคํานวณ  

     ตามกฎ 30/30 คุณควรอยู่ในที่กําบังแล้ว เมื่อฟ้าผ่าอยู่ห่างออกไปราว 10.5 กิโลเมตร อย่างไรก็ดีคุณต้องใช้เวลาอีก 5 นาทีในการเดินทาง โดยภายใน 5 นาทีนี้ พายุสามารถเคลื่อนที่ได้ 2.5 กิโลเมตร

    นั่นคือ คุณต้องออกเดินทางไปยังที่กําบังเมื่อพายุอยู่ห่างออกไป 10.5 + 2.5 กิโลเมตร = 13 กิโลเมตร

      หากมองในมุมของพายุ แสดงว่าพายุเคลื่อนที่ได้ 20-13 กิโลเมตร = 7 กิโลเมตร

      ดังนั้นถ้า อัตราเร็วและทิศทางของพายุไม่เปลี่ยนแปลง ระยะทาง 7 กิโลเมตร นี้พายุจะใช้เวลา 

7 กิโลเมตร / (0.5 กิโลเมตร/นาที) = 14 นาที

 

หมายเหตุ : ตัวอย่างการคํานวณนี้ ดัดแปลงมาจากข้อมูลใน 

http://www.srh.noaa.gov/srh/jetstream/lightning/lightning_safety.htm หน้า 5

 

10 เครื่องประดับ เช่น แหวนหรือสร้อยที่ทําจากโลหะ อาจเป็นตัวล่อฟ้าผ่าได้ จริงหรือไม่?

ตอบ : ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ทําให้เชื่อได้ว่า ชิ้นส่วนโลหะขนาดเล็กเหล่านี้จะเป็นตัวล่อฟ้าผ่า เนื่องจากวัตถุต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวนํา และฉนวนไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่ถูกประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆฝนฟ้าคะนองเหนี่ยวนําได้ทั้งสิ้น

  สังเกตว่าสายฟ้าสามารถผ่าลงมาที่ต้นไม้ ซึ่งไม่ใช่ตัวนําไฟฟ้าที่ดีเหมือนโลหะ และในขณะเดียวกัน เราจะไม่ค่อยได้ยินข่าวว่า ฟ้าผ่ารถยนต์ที่แล่นอยู่บนถนนในขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง แม้ว่าตัวถังรถยนต์ทําจากเหล็กกล้า (ซึ่งหากเหล็กกล้าเป็นตัวล่อสายฟ้าจริง รถยนต์บนถนนก็น่าจะถูกฟ้าผ่าจํานวนมาก)

ในกรณีที่เคยมีแคดดี้ได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าในขณะที่แบบถุงไม้กอล์ฟอยู่นั้น น่าจะเกิดจากการที่แคดดี้ผู้นั้นอยู่ในที่โล่ง จึงอาจถูกฟ้าผ่าโดยตรง หรือถูกทําร้ายจากกระแสไฟฟ้าที่วิ่งมาตามพื้น

     ส่วนในกรณีที่มีวัวจํานวนมากตายเพราะฟ้าผ่า แล้วมีผู้สรุปว่าเป็นเพราะกระดิ่งโลหะที่แขวนคอวัวอยู่นั้น ยิ่งเป็นไปได้น้อยมาก โดยสาเหตุที่เป็นไปได้มากกว่าคือ วัวถูกกระแสไฟฟ้าที่วิ่งมาตามพื้นวิ่งผ่านลําตัว ทําให้ล้มลงตายลงพร้อมกันหลายตัว

     ในสหรัฐอเมริกา เคยมีบันทึกว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 มีแกะถูกฟ้าผ่าตายพร้อมกันถึง  835 ตัว จากฟ้าผ่าเพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า แกะเหล่านี้ถูกกระแสไฟฟ้าที่วิ่งมาตามพื้นทําอันตรายพร้อมกัน (ไม่ใช่สายฟ้าแยกเป็นหลายร้อยสายพุ่งเข้าสู่ตัวแกะแต่ละตัวแต่อย่างใด)

 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม  สามารถค้นหาจาก http://gotoknow.org/blog/science/89158

ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ : นักวิชาการของ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

https://www.facebook.com/buncha2509

Photo Cradit :

http://www.excelatphysics.com/hazards-of-electrostatics.html

https://pixabay.com/en/tree-storm-sky-lightning-rain-164025/

http://tywkiwdbi.blogspot.com/2012/03/lightning-coming.html




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8